ตันตระหรือวัชรยานคืออะไร? : บทสนทนาระหว่าง กฤษดาวรรณ เมธาวิกุล กับ วิจักขณ์ พานิช

บทความโดย ทีมงานวัชรสิทธา


(1) ตันตระหรือวัชรยานคืออะไร?

อ.กฤษดาวรรณ: อะไรคืออะไรแน่ๆ นั้นตอบยาก ขึ้นอยู่กับนักประวัติศาสตร์จะอธิบายยังไง ที่สนใจวัชรยาน ก็เพราะได้ไปสัมพันธ์กับผู้คนทิเบต สงสัยว่าทำไมเขาถึงเป็นอย่างที่เขาเป็น พอได้พบครูบาอาจารย์ที่มีจิตใจที่ประเสริฐ เราเลยเข้าใจและรู้สึกอยากเป็นเหมือนท่าน อยากเรียนรู้คุณสมบัติที่ท่านมี ซึ่งต้องผ่านการฝึกฝนปฏิบัติวัชรยาน นั่นคือจุดตั้งต้น ดังนั้นหากเราอยากรู้จักว่าวัชรยานคืออะไร เราคงไม่สามารถรู้ได้จากหนังสือ ประวัติศาสตร์ งานวิจัย มีเพียงสิ่งเดียวที่จะทำให้รู้จักวัชรยาน คือจากการปฏิบัติ แล้วเราต้องเปิดใจ เพราะถ้าเรามีของเก่าจากพุทธศาสนาแบบที่เรารู้จัก เราก็จะต้องพยายามเปรียบเทียบตลอดเวลา นั่นจะเป็นอุปสรรคที่ทำให้เราไม่สามารถเข้าใจวัชรยานจากมุมมองของวัชรยานเอง

วัชรยานเป็นยานที่มีชีวิต เน้นความเป็นคน คุณสมบัติอันประเสริฐที่เรามี เต็มไปด้วยอุบายวิธีที่ใช้สัมพันธ์กับผู้คนที่มีความแตกต่าง วิธีการอันนึงของวัชรยานก็คือตันตระ ตันตระคือการเปลี่ยน เปลี่ยนสิ่งที่เป็นความสับสน เปลี่ยนอารมณ์ที่บั่นทอนต่างๆ ให้เป็นแสงสว่าง เป็นความรัก เป็นการตื่นรู้ ถ้าเราเข้าใจตรงนี้เราจะเข้าใจตันตระ แต่ถ้าเราจะพยายามเข้าใจตันตระจากเว็บไซต์ ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ หรือไปอ่านจากหนังสือที่มีนักวิชาการด้านศาสนาพยายามเขียนแต่ไม่เคยปฏิบัติ งานเขียนก็อาจยังใช้แว่นตาของพุทธเถรวาทมอง

วัชรยานมีหลายระดับมาก ตั้งแต่ระดับที่เผยแพร่ได้ ไปจนถึงระดับที่เผยแพร่ไปก็ไม่มีใครเข้าใจ และถ้าเผยแพร่ไปอาจเป็นอันตราย ในแง่ที่ว่าอาจจะฝึกผิด ไม่เข้าใจแล้วคิดไปในเชิงอกุศล ครูบาอาจารย์จึงมี secret teaching ที่ว่า secret นั้นมีจริงๆ แต่ที่เป็นความลับนั้นไม่ใช่เป็นความลับต่อผู้ปฏิบัติหรือผู้มีความพร้อม

วิจักขณ์: จุดเริ่มต้นของความสนใจวัชรยานของผมออกจะดูเป็นเรื่องบังเอิญ เพราะเราไม่ได้สนใจทิเบตเลย ไม่ได้สนใจด้วยซ้ำว่าจะศึกษาสายไหน เราก็แค่ตามประสบการณ์ตรงของเราไป จุดเริ่มต้นคือประสบการณ์บางอย่างจากการปฏิบัติภาวนาครั้งแรก ที่ผมไม่สามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผลว่าคืออะไร แต่มันเป็นสภาวะที่ชัดมากในความรู้สึก และเป็นหมุดหมายในชีวิตบางอย่างที่ผมอยากตอบตัวเองให้ได้ว่าประสบการณ์นั้นคืออะไร

อ.เร้จจี้เคยอธิบายว่า ตันตระเนี่ยเป็นสายปฏิบัติพื้นบ้านมากๆ มันถ่ายทอดด้วยประสบการณ์ตรง ถ้าพูดง่ายๆ ในภาษาอังกฤษ ตันตระคือพวก mystics ทั้งหลาย มันมีความเร้นลับของคนที่สอนและคนที่เรียน และมีการดำรงอยู่ที่ค่อนข้างเป็นชายขอบของสังคม หมิ่นเหม่เป็นพวกนอกรีต หรืออาจจะเรียกว่าใต้ดิน ไม่ใช่เพราะตันตระสื่อสารสิ่งที่ผิดหรือเป็นโทษ แต่อาจเป็นประสบการณ์ด้านในที่ไปพ้นจากขอบเขตของเหตุผล ดีชั่ว ถูกผิด หรือคำอธิบายที่เข้าใจโดยทั่วไปในทางสังคม มันจึงมีแง่มุมของความเร้นลับ ที่ค่อนข้างเข้าใจผิดได้ง่ายของตันตระอยู่ มันอธิบายด้วยเหตุผลไม่ได้ อธิบายด้วยหนังสือไม่ได้ แต่มันมีประสบการณ์และความเข้าใจอันลึกซึ้งที่ส่งต่อกันได้ด้วยความเปิดกว้างและสายสัมพันธ์เฉพาะบางอย่าง ตันตระยังเกี่ยวข้องกับโซนของประสบการณ์ที่อาจเรียกได้ว่า เวทย์มนตร์ หรือ magic

ในทางประวัติศาสตร์ศาสนา แทบทุกศาสนามีลักษณะการขับเคลื่อนศาสนธรรมแบบ exoteric คือมีระบบคิด ใช้เหตุใช้ผล มีหนังสือ คัมภีร์ พระสูตรอะไรก็ว่าไป แต่อีกแบบก็คือ esoteric ซึ่งเน้นไปที่สัญชาตญาณ ประสบการณ์ตรง พลังธรรมชาติ ความเป็นมนุษย์ อารมณ์ความรู้สึก ซึ่งก็คือ mystic นี่แหละ พุทธตันตระถือเป็น esoteric movement

(2) เทพ พิธีกรรม รูปเคารพแปลกตาในวัชรยาน

– เราจะเข้าใจรูปแบบสัญลักษณ์ในวัชรยาน พระปางพิโรธ ปางสันติ ยับยุม เครื่องใช้ในพิธีกรรม ที่ดูแปลกไปจากที่เราเห็นในพุทธศาสนาที่เราคุ้นเคยอย่างไร?

อ.กฤษดาวรรณ: จะเข้าใจก็ต้องมาเข้าคอร์ส มาฝึกด้วยกัน คือคนมักคิดว่าปฏิบัติวัชรยาน เราจะต้องเจอกับรูปสัญลักษณ์อะไรต่างๆ มากมาย แต่จริงๆ คือเราถูกหลอก รูปสัญลักษณ์เหล่านั้นเป็นเพียงอุบายหรือเครื่องช่วยให้เราทำความรู้จักตัวเราเอง

ที่ศูนย์ขทิรวันมีองค์พระมากมาย หลายปาง ครั้งหนึ่งมีการหล่อพระฑากินี วัชรวะราหิ ท่านไม่ได้สวมอาภรณ์ ตอนแกะออกมาจากกล่อง ลุงคนงานคนนึงก็ถามว่า อาจารย์ ทำไมพระทิเบตไม่แต่งตัว ทำไมโป๊ นี่ถือเป็นรหัสธรรม ก็เลยบอกลุงว่า “ตอนลุงเกิดมาลุงมีเสื้อผ้าติดมาด้วยมั๊ย แล้วนั่นเป็นธรรมชาติที่แท้จริงของลุงมั๊ย” ลุงก็โอเคมากๆ กับคำตอบนั้น

ถ้าเราแสวงหาความหมายของรหัสธรรม เราต้องทำผ่านการปฏิบัติ มาเชื่อมโยงดู แล้วมันจะค่อยๆ เผยให้เราได้เข้าใจ เพราะเมื่อเราปฏิบัติ องค์พระหนึ่งองค์ สมมติเป็นคุรุรินโปเช เราก็จะได้รับการบอกว่า ท่านถือวัชระ ท่านถือถ้วยกะโหลก สิ่งนี้คืออะไร ทำไมพระบาทของท่านพุ่งออก ทำไมท่านถือตรีศูล ทั้งหมดนี้มีความหมาย เราจะไม่ไปพยายามอธิบายรหัสธรรมให้คนทั่วไปเข้าใจ แต่จะอธิบายให้แก่คนที่ปรารถนาจะฝึกปฏิบัติ

วัชรยานแม้จะมีสีสัน มีรูปลักษณะมากมาย แต่จริงๆ กลับไปที่ตัวเนื้อแท้ที่เรามี เรากับพุทธะ ไม่ว่าจะเรียกว่าพระพุทธเจ้า พระยิตัม พระฑากินี พระธรรมบาล หรือจะเรียกว่า คุรุรินโปเช ตารา ซัมมา และอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งหมดนั้นคือเนื้อแท้ของเรา ในขณะที่เราเผชิญเรื่องราวของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวที่ไม่ถูกท้าทายมาก เราก็ยิ้มแย้มกับชีวิตเหมือนพระปางสันติ จนกระทั่งเรื่องราวที่ไปกระทบตัวเนื้อข้างในมากๆ จนสั่นสะเทือนและเราก็สำแดงเป็นพระปางพิโรธ สิ่งเหล่านี้ล้วนมีความหมายในแง่ของการปฏิบัติ

ที่วัชรยานดูซับซ้อน แบ่งเป็นหลายระดับ หนังสือที่ไปซื้อมา เราก็อ่านไม่รู้เรื่อง เพราะนี่คือรหัสยนัย เป็นความหมายลึกล้ำ ที่พร้อมจะเปิดเผยให้แก่ผู้ที่ปรารถนาจะฝึกปฏิบัติโดยมีโพธิจิตขับเคลื่อน เป้าหมายคือเพื่อช่วยปลดหรือพ้นจากความทุกข์ของเราและสัตว์โลก และเพื่อให้มีเทคนิควิธีที่หลากหลายที่จะทำงานกับอัตตาตัวตนของเรา

วิจักขณ์: ต้องออกตัวก่อนเลยว่า ผมเรียนวัชรยานมาคนละแบบเลย ผมแทบไม่มีความรู้อะไรเกี่ยวกับ tradition เลย ภาษาทิเบตก็ไม่รู้ หลายปีที่เริ่มฝึกก็ยังแทบไม่เคยเห็นรูปสัญลักษณ์ หรือเครื่องใช้ในพิธีอะไรเลย

คืออย่างที่บอกว่า รู้ตัวอีกทีผมก็เหมือนไปถูกปล่อยไว้ท่ามกลางลูกศิษย์ของเชอเกียม ตรุงปะ ในสถาบันการศึกษาที่เขาก่อตั้งขึ้น ซึ่งทุกคนก็พอจะรู้ว่าเชอเกียม ตรุงปะ มีกิตติศัพท์ยังไง ชีวิตเขาโลดโผนมาก เมื่อเขาตาย เขาได้รับการยกย่องว่าเป็น มหาสิทธา ซึ่งน้อยคนที่จะเป็นแบบเขา อย่างที่เล่า มันมีความต่อเนื่องของประสบการณ์ไประดับนึง คล้ายๆ กับเราตามรอย ตามหาอะไรบางอย่าง พอเราได้ไปอยู่ตรงนั้น มันรู้สึกได้.. พอได้ไปเจอ อ.เร้จจี้ มันก็คลิ๊ก รู้สึกว่าเราสามารถต่อยอดประสบการณ์ไปสู่มิติที่อธิบายไม่ได้ได้เยอะขึ้น มันมีปฏิกิริยาทางร่างกายที่รับรู้ได้ว่าเรากำลังเดินมาถูกทาง เหมือนคำสอนมันค่อยๆ คลี่ออกในตัวเรา เราได้ยินคำสอนวัชรยานแล้วซาบซึ้ง น้ำหูน้ำตาไหล เหมือนได้ยินสิ่งที่คุ้นหู ที่เราเชื่อว่ามันมีอยู่ แต่ไม่เคยได้ยินใครพูดถึงมาก่อนในชีวิตนี้ วินาทีนั้นเรารู้เลยว่าได้เจอครูแล้ว ซึ่งตอนนั้นมันไม่สำคัญเลยว่าเขาจะอยู่ในสายวัชรยานหรืออะไร เรารู้แค่ว่าอยากเรียนกับเขา อยากเดินทางร่วมกับเขา

ความรู้สึกของการฝึกปฏิบัติวัชรยานของผม เริ่มต้นด้วยการได้เจอใครสักคนที่เปิดเปลือยเรา แล้วเรารู้สึกว่าไม่สามารถจะหลบซ่อนกับคนคนนี้ได้ หรือเค้าได้สร้างพื้นที่บางอย่างที่เราพร้อมจะเปิดเปลือยตัวเองกับเขา เมื่อมีสายสัมพันธ์หรือการเปิดใจในลักษณะนี้เป็นพื้น ทุกอย่างในวัชรยานจะเมคเซนส์หมดเลย ทุกประสบการณ์ที่เกิดขึ้น ทุกอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้น ทุกผู้คนที่พบเจอ ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นนับจากนี้ เราพร้อมจะอยู่กับมัน เผชิญกับมันในฐานะประสบการณ์อันศักดิ์สิทธิ์ มันจะค่อยๆ เกิดขึ้นเรื่อยๆ แล้วถึงจุดนึงพอเรามีพิธีกรรมที่มาตอกย้ำ มีอุปกรณ์ต่างๆ เข้ามาประกอบ หรืออย่างเวลาที่ใครเริ่มทำ “เงินโดร” มันก็เหมือนกระบวนการเตรียมตัวเบื้องต้นให้เราเข้าสู่การเปิดเปลือยที่ว่า ก่อนจะก้าวเข้าสู่ประตูของโลกวัชระ

ที่เล่ามาก็เพื่อจะบอกว่า วัชรยานในมุมมองของผม เป็นคำสอนที่เปลือยเปล่ามาก มันไม่มีหนึ่ง สอง สาม สี่ ให้ แต่เหมือนโยนเราลงไปเลย ตัวพื้นที่นั้นมันเป็นแบบนี้ตั้งแต่แรก เราเริ่มเชื่อมโยงกับคำสอนวัชรยานด้วยประสบการณ์แบบนี้ก่อน แล้วจากนั้นเราจึงค่อยมาทำความเข้าใจเรื่องรูปสัญลักษณ์ บทสาธนา พระยิตัม พระธรรมบาล พระปางต่างๆ พิธีกรรม เครื่องมือเครื่องใช้ วิธีการที่ซับซ้อนทีหลัง ซึ่งพอตอนนั้นมันก็เมคเซนส์ว่า อ๋อ มันทำงานกับประสบการณ์การตื่นรู้ทางกายของเรา อารมณ์ความรู้สึกที่สามารถมีทั้งด้านพิโรธ ด้านสงบ ประสบการณ์และสภาวะธรรมที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ทั้งหมดสามารถแสดงออกเป็นบุคลาธิษฐาน สีสัน มณฑล แบบนี้ๆ นะ ซึ่งก็เป็นการจำลองปรากฏการณ์ของจิตในแบบต่างๆ ที่เรามีประสบการณ์อยู่แล้วในตัวเอง แต่วิธีของตรุงปะคือ โยนเราเข้าไปเลย พาเราออกมาจากที่ซ่อน ให้เราได้เห็นธรรมชาติในตัวเอง ส่วนองค์ประกอบที่เป็น tradition นั้นมาทีหลัง ไม่ต้องรู้ก็ได้ ดังนั้นวัชรยานในความเข้าใจของผมคือ มันตรงมาก เปลือยมาก


(3) โพธิจิต กับพันธกิจของวัชรยาน

– สิ่งสำคัญที่อาจจะช่วยให้เข้าใจวัชรยานได้ดียิ่งขึ้น ก็คือ เรื่องโพธิจิตกับความมุ่งมาดปรารถนาที่จะช่วยสรรพสัตว์ อยากให้ช่วยขยายความว่า โพธิจิต มีความสำคัญต่อการปฏิบัติวัชรยานอย่างไร

อ.กฤษดาวรรณ: เรามักจะพูดถึงวัชรยานว่าไม่มีอะไรเกี่ยวเลยกับมหายาน ในสามมรรควิถี หินยาน มหายาน วัชรยาน, วัชรยานจริงๆ แล้วคือมหายาน ต่างกันตรงที่วัชรยานเอาผลมาเป็นหนทางของการปฏิบัติ

เราพูดถึงพุทธภาวะ หรือเมล็ดพันธุ์แห่งการตื่นรู้ที่ทุกคนมี เราเปลี่ยนได้ตอนนี้เลย เราเปลี่ยนตัวเราในทันทีเมื่อเราปฏิบัติ เหมือนเรากระโจนเข้าไปทันที เวลาที่คิดว่าเรายังมีกิเลส เรายังไม่พร้อม เรายังไม่เพอร์เฟ็คท์ แต่ครูบาอาจารย์บอกว่าเราเพอร์เฟ็คท์ เพราะเรากำลังฝึกอันนั้น และทุกขณะ นั่นคือ perfection วัชรยานเอาตรงนี้มาเป็นวิธีการและเราอยู่กับสิ่งนี้ตลอดชีวิต ไม่ว่าจะระดับพื้นฐานจนถึงระดับสูงสุด เราไม่เคยลืมพุทธภาวะตรงนี้ และทุกวิธีการคือเน้นให้พุทธภาวะได้เกิดขึ้น ได้ตื่นขึ้น เป็นประสบการณ์ที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนมุมมองในการดำเนินชีวิต เป็นหลักในการภาวนา แต่ไม่ได้หมายความว่า เราจะลุกขึ้นประกาศว่าเราตรัสรู้แล้วอะไรแบบนั้น

ทำไมเราต้องทำแบบนี้ เพราะชีวิตมากมายเหลือเกินไม่มีโอกาสเหมือนที่เรามี มด แมลง สัตว์ ประชากรบนโลกใบนี้ ชีวิตมากมายยังหิวโหย ชีวิตมากมายยังเผชิญกับความรุนแรงทุกรูปแบบ เขายังไม่สามารถตระหนักรู้ว่าตัวเองมีพุทธภาวะ เขาไม่ได้ยินเสียงใดๆ ที่จะบอกว่าชีวิตเขาศักดิ์สิทธิ์ เขาเชื่อว่าชีวิตเขานั้นมืดมน หดหู่ เป็นชีวิตที่แย่มากๆ วัชรยานจึงให้เรามองชีวิตเหล่านั้นแล้วโอบกอดทุกชีวิต เมื่อคุณอยากปฏิบัติธรรม อยากเข้าถึงสันติสุขภายใน ขออย่าลืมชีวิตอีกมากมายที่มีความปรารถนาเช่นกัน แต่อย่าให้คำว่าสรรพสัตว์เป็นคำสวยหรู จนลืมคนรอบข้าง ชีวิตที่อยู่ข้างๆ คุณ

โพธิจิตคืออันพลังยิ่งใหญ่ที่จะขับเคลื่อนชีวิตเรา ถ้าเรามีจิตแห่งการตื่นรู้อยู่ เราจะมีกำลังที่จะทำสิ่งต่างๆ มากมายเพื่อผู้อื่น ครูบาอาจารย์ที่เราฝึกด้วย ท่านคือโพธิจิตที่มีชีวิต เหมือนเป็นห้องเรียนแห่งโพธิจิต เมื่อเราท้อแท้ในการปฏิบัติ เมื่อเห็นท่าน เรารู้สึกว่าเราไม่ต้องคิดถึงตัวเราเลย ไม่ต้องคิดถึงอะไรเลย เพียงมุ่งหน้าทำสิ่งนี้แล้วให้ชีวิตอื่นๆ ได้มีโอกาส เหมือนเราทำของขวัญให้กับเขา

ในวิถีที่ฝึกมาอาจจะต่างกับของวิจักขณ์ ในแง่ที่ว่า ครูบาจารย์จะไม่ถามเลยว่าลูกศิษย์รู้สึกอย่างไร ครูบาอาจารย์ไม่สนใจประสบการณ์ของศิษย์ และเราก็ไม่สนใจประสบการณ์ของเรา ไม่สนใจในแง่ที่ว่า เราไม่ตามไปดูว่าเราเป็นอะไร เราเป็นอย่างไร แต่เราถูกเปลี่ยนจากกระบวนการ ถูกเปลี่ยนจากระบบที่ครูให้ สถานการณ์ที่ครูให้ แต่ครูจะไม่ถามเราว่าเรารู้สึกยังไง แต่เราเปลี่ยน ทันทีที่เห็นสายตานั้น ทันทีที่เราเกิดความรู้สึกที่เราเข้าใจตัวเอง ได้เห็นตัวเองอีก นี่เป็นลักษณะที่ครูบาอาจารย์ทำในทิเบต กับกัลยาณมิตรที่ฝึกปฏิบัติก็เหมือนกัน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นพระ เพราะอาจารย์เยินเติ้นบวชเป็นพระอยู่ 27 ปี หลวงพี่เหล่านั้นไม่เคยคุยประสบการณ์ส่วนตัว แต่สิ่งที่ทำ มันสะท้อนหัวใจของหลวงพี่ เราคือสหายธรรมที่เป็นลูกศิษย์ของรินโปเช และเราต่างรักสายปฏิบัติ เราต่างรักที่จะทำประโยชน์ให้ผู้อื่น มันเป็นการเรียนรู้โพธิจิต ซึ่งตามนิยาม เป็นความปรารถนาในการบรรลุธรรมเพื่อประโยชน์ของสรรพสัตว์​ แต่จริงๆ โพธิจิตเป็นสิ่งที่มีชีวิต เป็นสิ่งที่ถูกหล่อหลอมด้วยประสบการณ์ ด้วยการปฏิบัติที่ครูมอบให้ เมื่อเราได้คำสอนนั้นมา เราจึงเห็นคุณค่าของคำสอนที่รับมาอย่างถึงที่สุด เราทำเต็มที่ ให้คำสอนนั้นได้สะท้อนคุณสมบัติที่คุรุคาดหวัง และเป็นสิ่งที่จะสืบต่อไปยังอนาคต ทิเบตดำรงอยู่ด้วยสายสัมพันธ์ ความหวัง ที่ครูบาอาจารย์มอบให้แก่ศิษย์ แล้วศิษย์ก็มอบต่ออย่างไม่มีการหมดสิ้น สายสัมพันธ์นั้นเป็นเอกลักษณ์ เป็นสิ่งที่ประเสริฐมากๆ ของความเป็นวัชรยาน

เพราะฉะนั้นแม้ทิเบตไม่มีเอกราช แต่ทิเบตมีจิตวิญญาณ จิตวิญญาณของทิเบตไม่เคยหายไป มันส่งผ่านจากครูสู่ศิษย์ กัลยาณมิตร สหายธรรม ที่ทำทุกอย่างเพื่อกันและกัน ไม่คำนึงถึงความสุขของเขา ความทุกข์ของเขา เขาจะทำให้เพื่อนเขาก่อน เราทำให้เกิดขึ้นได้ เมื่อเห็นข้อดีของทิเบต ของวัชรยาน ข้อดีนั้นเป็นสากล ไม่ใช่เพื่อชาวทิเบตเท่านั้น ไม่ใช่แค่ความรักในสังฆะหรือความรักระหว่างสองสังฆะเท่านั้น แต่อยู่ในทุกแห่งที่เราดำรงอยู่ แล้วเราแต่ละคนจะเป็นประกายแห่งความรักที่ส่งผ่าน ความรักนั้นไม่เคยแห้งแล้งด้วยสายสัมพันธ์ที่มีต่อครู สายสัมพันธ์นั้นคือความหมายของวัชรยาน

วิจักขณ์: ผมจะช่วยเติมอีกด้านนึงละกันนะครับ คือก่อนที่จะเข้าใจวัชรยาน เราต้องคุยกันถึงรากฐานที่คำสอนวัชรยานตั้งอยู่ด้วย วัชรยานไม่สามารถดำรงอยู่ได้อย่างโดดๆ แต่ต้องตั้งอยู่บนรากฐานของยานก่อนหน้า อันนี้เรียกว่า ไตรยาน, หินยาน มหายาน วัชรยาน (ไม่ใช่หมายถึงนิกาย แต่หมายถึงยานภายใน หรือพัฒนาการของจิตใจผ่านการฝึกขั้นต้น ขั้นกลาง ขั้นปลาย)

หินยาน คือการฝึกเผชิญตัวเอง เผชิญความทุกข์ กรรม ทำงานกับความยึดมั่น กับข้อจำกัดของตัวตนที่ทำให้เกิดทุกข์ทั้งหลาย เวลาเราภาวนา เราก็ฝึกดูความคิด กลับมาที่ร่างกาย กลับมาที่ลมหายใจ แล้วเราก็อาจจะเริ่มมีประสบการณ์ของช่วงเวลาของการดับทุกข์ ซึ่งก็เป็นชั่วขณะที่เราปล่อยจากการยึดมั่นกับความคิดได้ มีภาวะว่างจากความคิดบางอย่างที่เริ่มเกิดขึ้น เรายอมปล่อยจากสายความคิดได้ ยอมให้ความคิดเราถูกขัดจังหวะได้

หินยานจะพัฒนาไปสู่มหายาน ผลของการปฏิบัติทำให้ gap หรือช่องว่างในสายความคิดเริ่มกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน เราอยู่กับความว่างจากความคิดหรือความว่างจากตัวตนได้มากขึ้น มีเซนส์ของการเปิดออก อยู่ได้ ว่างได้ แทนที่จะต้องดิ้นรนทำอะไรเพื่ออะไร ความว่างจะเริ่มทำงานและเปิดความเป็นไปได้ใหม่ พูดง่ายๆ มหายานก็คือโหมดของการเปิดใจ เวลาเราเปิดใจกับอะไรตรงหน้า เราไม่ได้อยู่ในโหมดของการคิดว่าคนคนนั้นหรือสิ่งนั้นเป็นยังไง ความคิดเราหยุด เราเปิด เราว่างอยู่ตรงนั้น

มหายานคือพัฒนาการของความว่าง อย่างเราอ่านพระสูตรมหายาน ปรัชญาปารมิตาสูตร หัวใจของพระสูตรนี้คือวินาทีของการปล่อยความคิดแล้วเปิดใจ หนังสือที่มี ตำรา พระไตรปิฎก พระธรรมคำสอนที่เรียนมาก่อนหน้านี้ ทิ้งไปได้เลย เพราะวินาทีนั้น สำคัญที่สุดคือหยุดคิดและเปิดใจกับสภาวะตรงหน้า มหายานจึงเป็นยานที่พูดถึง compassion ความรักความกรุณาต่อผู้อื่น ธรรมชาติของจิตที่ว่าง ไม่เลือกปฏิบัติ แต่เปิด เปิด และเปิด ต่ออะไรก็ตามที่อยู่ตรงหน้า เราไม่เอาความคิดที่ใช้กับตัวเอง ไปยัดเยียดให้กับคนอื่น การรู้ตัวที่เราฝึกมาในขั้นต้น พัฒนากลายเป็น “presence” หรือการดำรงอยู่ตรงนั้นเพื่อคนอื่น ซึ่งเราต้องว่าง

เมื่อใส่ใจโลกรอบตัวด้วยประสบการณ์ของความว่าง เหมือนได้เรียนรู้ทุกอย่างใหม่หมด ไม่เป็นอย่างที่คิดไว้ล่วงหน้าเลย เราต้องเปิดใจกับทุกสิ่งใหม่ แล้วเราก็ค้นพบว่า ธรรมชาติโดยเนื้อแท้ของทุกสิ่งก็คือความว่างด้วย มันไม่เคยถูกจำกัดด้วย concept อะไรทั้งนั้น

วัชรยานจะตั้งอยู่โดยปราศจากรากฐานของหินยานและมหายานไม่ได้ จากพื้นของความว่าง ทำให้เราตระหนักว่า ทุกสิ่งที่เราเข้าไปสัมพันธ์ด้วย นอกจากจะไม่เคยเป็นอย่างที่เราคิดแล้ว มันยังมีชีวิตของมันเอง มีพลังงานที่เป็นเอกลักษณ์ มีความตื่นเฉพาะในตัวมันเอง ซึ่งถ้าเราสัมพันธ์ ไม่ใช่ด้วยท่าทีของการควบคุม ตัดสิน แต่เปิดกว้าง เราจะเริ่มค้นพบ wisdom, magic, หรือความศักดิ์สิทธิ์ในแบบของมันเอง สำหรับผม อันนี้่แหละคือท่าทีแบบวัชรยาน เห็นชัดเลยว่าทำไมการฝึกวัชรยานจะขาดโพธิจิตไปไม่ได้ และวัชรยานก็คือมหายานนั่นเอง

วัชรยานคือพัฒนาการของความตื่น ความว่างในมหายานจะกลายเป็น พื้นที่ว่าง, space, หรือ มณฑล ในวัชรยาน ในแง่นี้ความว่างได้ทำหน้าที่ปลดปล่อย (liberate) หรือส่งเสริมศักยภาพ (empower) ให้สิ่งต่างๆ ได้เป็นอย่างที่มันเป็นจริงๆ ทุกอย่างจะชัดขึ้น เข้มข้นขึ้น ภายใน space แบบวัชรยาน อันนี้ไม่ใช่เฉพาะปัญญาญาณ แต่รวมถึง กิเลส อารมณ์ ด้านวิปลาส ทั้งหมดด้วย ซึ่งผู้ปฏิบัติวัชรยานจะสัมพันธ์กับสีสัน พลังงาน ความเข้มข้นของปรากฏการณ์ทั้งหลายในมณฑล ในฐานะการแสดงตนของพุทธภาวะ

เวลาพูดถึงเทพยิตัม เทพในวัชรยานคือธรรมชาติที่แยกขาดไม่ได้ระหว่างพลังงานกับความว่าง เทพเหล่านั้นดูเหมือนจะมีตัวตน แต่ไม่ใช่ พลังงานเหล่านั้นตื่นขึ้นอย่างฉับพลันจากความว่างราวกับเวทมนตร์ ในวัชรยานจะมีส่วนของการสร้างนิมิตหรือมณฑลของเทพทั้งหลาย แต่อีกส่วนที่สำคัญคือการสลายกลับไปสู่ความว่าง สิ่งที่ทำทั้งหมดในวัชรยานอยู่บนพื้นฐานของความรัก คุรุคือพุทธภาวะ เราคือพุทธภาวะ ผู้อื่นคือพุทธภาวะ โลกปรากฏการณ์คือพุทธภาวะ ทุกอย่างเป็นไปได้ เพราะเราเปิดใจและเชื่อมั่นในสายสัมพันธ์แห่งพุทธภาวะ พุทธภาวะที่แยกขาดไม่ได้จากความว่าง ดังนั้นสำคัญมากที่การฝึกวัชรยานจะต้องตั้งอยู่บนพื้นของโพธิจิต ทั้งในแง่ของประสบการณ์ความว่าง สายสัมพันธ์ของความรักและความไว้วางใจที่มีต่อครู และปณิธานอันไพศาลแห่งการปลดปล่อยความทุกข์ของเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์

สรุปความจาก งานเสวนา “Secret Buddhism: การเดินทางของพุทธวัชรยานสู่สังคมไทย” 23 พฤศจิกายน 2562 ณ วัชรสิทธา