Eurythmy: ยูริธมี อิสรภาพแห่งการหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว

บทความโดย THANYA วัชรสิทธา
สะท้อนประสบการณ์จากกิจกรรม Eurythmy รูป เสียง ดนตรี Harmony ของจักรวาล โดย อ.คาเทีย และ อ.ชนก ปิ่นสุวรรณ

ชั้นเรียนนี้เริ่มต้นด้วยคำถาม ว่ายูริธมีคืออะไร ครูชนกตอบว่า “เก็บคำถามนี้ไว้กับตัวก่อน แล้ววันสุดท้ายเราค่อยมาตอบมันด้วยตัวเอง

ห้องเรียนยูริธมีครั้งที่สอง ณ วัชรสิทธา หลังจากที่ห่างหายไปหลายปี ครูคาเทียและครูชนก ปิ่นสุวรรณ นำ Tone Eurythmy และ Speech Eurythmy ให้ผู้เข้าร่วมได้มีประสบการณ์และพบกับคำตอบว่ายูริธมีคืออะไรในแบบของแต่ละคนเอง ในระยะเวลาสองวันที่ได้มาใช้ชีวิตกับการเคลื่อนไหวในห้องเรียนนี้ไม่สั้นไม่ยาวจนเกินไป ได้กลับมาเล่นสนุกเหมือนตอนเป็นเด็ก และได้รับความรู้ที่ลึกซึ้งในร่างกายกลับไป

ครูคาเทียและครูชนกทำงานกับยูริธมีมานานกว่ายี่สิบปี ตั้งแต่จุดเริ่มต้นที่ได้รู้จักกับยูริธมีและเข้าเรียนในสถาบันที่ประเทศเยอรมันนีเป็นระยะเวลาสี่ปี โดยครูคาเทียศึกษายูริธมีในด้านการศึกษา ส่วนครูชนกศึกษายูริธมีทางด้าน Speech Eurythmy ครูทั้งสองกลับมาที่ประเทศไทยและทำงานทั้งในด้านการศึกษาที่โรงเรียนวอลดอร์ฟ และโรงเรียนทางเลือกอื่นๆ ด้านการบำบัด อีกทั้งเปิดสอนศาสตร์นี้ให้แก่ผู้ที่สนใจ โดยพัฒนาเป็นหลักสูตร Eurythmy Foundation Training

ผ่านสองวันนั้นมา ยูริธมีก็ยังคงเป็นสิ่งที่ยากจะอธิบายให้ฟังเข้าใจว่าคืออะไรกันแน่ จะดีที่สุดคือต้องมามีประสบการณ์ด้วยตัวเอง 🙂

Speech Eurythmy 

เสียงของแต่ละพยัญชนะ แต่ละสระ มีพลังงานและเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ในถ้อยคำที่เราสื่อสารกันอยู่ทุกวัน แม้ในภาษาไทย เราไหลไปกับคำพูดอย่างรวดเร็วด้วยความเคยชิน ทำให้บางทีก็หลงลืมความหมายและพลังของมัน ในฐานะเครื่องมือการสื่อสารอันสำคัญยิ่งของมนุษย์

การทำ Speech Eurythmy เป็นช่วงเวลาที่ให้เราได้กลับมา “ตื่นรู้” อยู่กับวาจาอย่างละเอียด ย่อยลงไปที่พยัญชนะ สระ เสียง ให้เราสัมพันธ์กับทุกๆ หน่วยย่อยของถ้อยคำอย่างเต็มเปี่ยม ด้วยทั้งการพูดและการเคลื่อนไหว 

เสียง ม – เมื่อผ่านมา มหาสมุทร หมายมุ่งมั่น

เสียง พ – เดินผ่านพ้น บนภูผา ผ่าเผ่าพันธ์

เสียง ฟ – ไฟพุ่งฟุ้ง พุ่งจากฟ้า ฝ่าลงฝาย

เสียง น – นั่นนิดหน่อย นี่น้อยน้อย นะนวลนาง

เราได้ฝึกสัมพันธ์กับเสียงด้วยร่างกาย อยู่กับชั่วขณะของการเปล่งเสียง ที่ลิ้น ที่ริมฝีปาก ที่ลม และเคลื่อนไหวไปกับลักษณะของเสียง เช่น เสียง “น /N” มีท่าทีแบบเด้งๆ กระโดดขึ้นลงบนพื้นผิว  เสียง “ฟ / F” เหมือนไฟที่พุ่งขึ้นไป 

ใน Speech Eurythmy พยัญชนะและสระมีท่าการเคลื่อนไหวที่สร้างสรรค์ให้สอดคล้องไปกับลักษณะของเสียง และสามารถนำมาประกอบกันเป็นคำ เป็นบทกวี ซึ่งปรากฏออกมาทั้งในรูปแบบของการแสดง (Eurythmy performance) และการทำงานกับบุคคลในการทำงานกับสักยภาพการสื่อสารของตัวเอง

ประสบการณ์ที่ได้รับจากแบบฝึกหัดในส่วนนี้ เป็นความรู้สึกสดใหม่กับสิ่งที่เราใช้กันอยู่ทุกวัน ราวกับได้เคี้ยวคำแต่ละคำอย่างละเอียด ทำความรู้จักกับทุกรายละเอียด แล้วเปล่งออกไปด้วยความตระหนักรู้ ซึ่งแม้ว่าในชีวิตจริงจะไม่สามารถทำเช่นนี้ได้ตลอดเวลา แต่ความจำได้นี้ก็มีอยู่ในร่างกายแล้ว

Playground สร้างสนามเด็กเล่นให้เราทุกคนมาเล่นด้วยกัน

หลังจากนั่งล้อมวงคุยกันสักพัก ครูคาเทียก็กล่าวว่า “เอาล่ะ เราคุยกันพอแล้ว ไปเล่นสนุกกันดีกว่า”  และพาทุกคนไปล้อมวงกลมใหญ่ เปลี่ยนห้อง Main Shrine ให้กลายเป็นสนามเด็กเล่น ร้องเพลง วิ่งไปมา

แบบฝึกหัดในส่วนของ Tone Eurythmy ครูคาเทียพาเราเคลื่อนไหวไปกับบทเพลงท้องถิ่น นึกถึงทำนองเพลงสนุกๆ แบบแมงมุมลาย หนูมาลี ที่ฟังครั้งเดียวก็จำได้ร้องตามได้ ให้เราเดินตามจังหวะไปที่ตำแหน่งต่างๆ เป็นรูปแบบเหมือนเต้นระบำเป็นกลุ่ม ระหว่างที่ทำก็ทั้งวุ่นวาย ทำได้บ้างหลุดบ้าง ทั้งสนุกที่ต้องคอยฟังเพลง ดูเพื่อน ดูตำแหน่งตัวเอง 

นอกจากนี้ก็มีการเคลื่อนไหวไปกับโน้ตดนตรี ใช้แขนขยับขึ้นลงไล่ตามลำดับเสียง และยังได้สร้างเสียงดนตรีด้วยเครื่องมือแปลกๆ ที่ครูเตรียมมา 

ในส่วนนี้ ทุกคนได้กลับไปเป็นเด็กกันอีกครั้ง วิ่ง หัวเรา จับมือเป็นลงกลม หมุนตัวตามเพลง ปรบมือ กะทืบเท้า ร่างกายทั้งร่างได้รับการปลุกเด็กตัวน้อยในทุกอณูออกมาอีกครั้ง เป็นความตื่น ความสดชื่นกับชีวิตที่แสนคุ้นเคยที่ไม่ได้เจอกันเสียเนิ่นนาน


Form and Vowels 

นอกจากการเคลื่อนไปกับดนตรี ครูคาเทียพาเราทำงานกับสระทั้งห้า และรูปฟอร์มของดาวห้าแฉก ด้วยการเคลื่อนไหวท่าทางที่มือแขน และการเดิน

สระทั้งห้า (ออกเสียงตามภาษาเยอรมัน) อา (A) เอ (E) อี (I) โอ (O) อู (U) เป็นแบบฝึกหันยูริธมีพื้นฐานที่สุด ในแต่ละเสียงมีความหมาย อา A หมายถึงอดีต เป็นฐานและการเปิดรับ อี E เป็นอดีตที่ใกล้เข้ามา ททำท่าเป็นกากกาบาทเส้นตัด เป็นการอยู่กับตัวเอง อี I เป็นปัจจุบัน เหยียดแขนข้างหนึ่งตั้งตรงขึ้น ยืนยันพลังเจตจำนง โอ O เป็นอนาคต เป็นการโอบรับ อู U คืออนาคตไกลออกไป ทำแขนคู่ขนานเป็นการโฟกัสมุ่งมั่น 

แบบฝึกหัดให้เราทำเสียงเหล่านั้นทั้งกับตัวเอง ใช้แขน ร่างกาย และเดินเป็นรูปดาวห้าแฉก แต่ละจุดคือตำแหน่งของแต่ละเสียง และทั้งทำกับกลุ่ม ยืนเรียงกันให้เป็นฟอร์มของเสียงสระต่างๆ เป็นการฝึกความแม่นยำและสมาธิในการเชื่อมโยงร่างกายกับเสียงและความหมายเหล่านั้น

รูปดาวห้าแฉกเป็นดั่งตัวแทนของมนุษย์ มีหัว แขน ขา เราฝึกเดินเป็นรูปดาวตามจังหวะต่างๆ แม่นยำกับตำแหน่ง และลื่นไหลไปในส่วนต่างๆ 


อิสรภาพในวินัยที่แม่นยำ

แม้ดูภายนอกยูริธมีอาจจะเหมือนการเคลื่อนไหวที่พลิ้วไปมา แต่จริงๆ แล้วเบื้องหลังความลื่นไหลที่เห็นนั้น คือความแม่นยำ และการอยู่กับหลักการอย่างแนบแน่น แม้ในระดับต้นที่เราฝึกกันในสองวันนี้ ในแต่ละแบบฝึกไม่ใช่การเคลื่อนไหวมั่วๆ แต่มีรูปแบบ มีระเบียบบางอย่างให้เราฝึกกับมัน ความสนุกสนานไม่ได้เกิดจากการทำอะไรก็ได้ตามใจ แต่เกิดจากการตื่นตัวอยู่บนวินัยที่มีกับตัวเอง กับแบบฝึกหัด และกับเพื่อนๆ ที่ร่วมอยู่ในพื้นที่เดียวกัน 

ท่าทางการเคลื่อนไหว ฟอร์ม และทุกๆ ส่วนของศาสตร์ยูริธมีถูกคิดค้นขึ้นมาอย่างละเอียด จากหลักมนุษยปรัชญาโดยรูดอร์ฟ สไตเนอร์ และมีการใช้ในโรงเรียนวอลดอร์ฟ หรือในหลักสูตรมนุษยปรัชญาในแต่ละที่ เป็นการฝึกที่ละเอียดไปกว่าระดับความคิด เป็นการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างพลังชีวิต อารมณ์ ความคิด และพลังเจตจำนง  ดังนั้นการทำยูริธมีจึงต้องมีความแม่นยำและอาศัยการฝึกฝน

ประสบการณ์นี้เอง พาให้เข้าใจถึงอิสรภาพที่เกิดจากการอยู่ในความแม่นยำ อิสรภาพที่ไม่ใช่ในความหมายว่าเราจะทำอะไรก็ได้ ตัวฉันเป็นผู้เลือกสิ่งนี้สิ่งนั้น แต่มันเป็นอิสระที่เกิดขึ้นในความรู้สึก ที่พ้นไปจากความคิดว่าเราต้องมีอิสรภาพ

ขณะที่เคลื่อนไหวไปกับฟอร์ม หรือในแบบฝึกหัดต่างๆ เมื่อเรามีสมาธิอยู่กับการกระทำตรงหน้า เมื่อเราอยู่กับความแม่นยำ และไปกับการเคลื่อนที่ของทุกคน ช่วงเวลานั้นจะเกิดความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกับกระแส (Harmonize)  ที่กำลังเป็นอยู่ ณ ขณะนั้น เราทั้งอยู่กับตัวเอง อยู่กับกลุ่ม และอยู่กับยูริธมีไปพร้อมๆ กัน จังหวะนั้นเหมือนเราหลุดจากการควบคุมของ “ตัวเอง” ว่าฉันจะทำแบบนู้นแบบนี้ ออกไปอยู่กับอะไรที่กว้างกว่า เปิดกว่า และช่างตื่นตัว สดใหม่ ราวกับนี้คือครั้งแรกของชีวิต เป็นอิสระจากทุกความคิดล่วงหน้าที่เคยเกาะกุมมาโดยตลอด

ในวันสุดท้าย ทุกคนก็ดูเหมือนจะมีคำตอบให้แก่ตัวเองว่ายูริธมีคืออะไร อย่างที่ครูชนกทิ้งไว้เมื่อเริ่มต้น และเกิดความเข้าใจกันและกันว่าการจะอธิบายประสบการณ์ที่ไปไกลกว่าคำพูดมันยากอย่างไร (ฮา) 

สองวันนี้เป็นเพียงประตูบานน้อยๆ ที่เปิดทุกคนเข้าไปสู่โลกของยูริธมี แต่ก็ทิ้งความรู้สึก และความสนใจใคร่รู้ให้กลับไปเป็นเมล็ดพันธุ์ที่จะเติบใหญ่ภายหน้าในเวลาที่เหมาะสม แต่อย่างไรก็เชื่อเหลือเกินว่าความรู้สึกสนุกและเป็นอิสระจะทรงจำอยู่ในร่างกายจากชั้นเรียนสองวันนี้อย่างแน่นอน