ตั้งหลักใหม่ในชีวิตอันไร้หลัก : แนวทางดูแลสุขภาวะจิตใจในโลกแห่งความเป็นจริง

โดย ชัยณภัทร จันทร์นาค

สรุปเนื้อหาจากคอร์สอบรม ตั้งหลัก: พื้นฐานการดูแลจิตและใจ รุ่น 4

ที่มาภาพ : Henry & Co. จาก Pexels

เสียหลัก

คอร์สตั้งหลักเป็นคอร์สที่เราให้ความสนใจกับช่วงชีวิตที่อะไรๆ อาจดูหนัก สับสน ไร้ทางไปต่อ เมื่อมีบางสิ่งเข้ามากระทบชีวิตจนทำให้เราไปต่อไม่ไหว  บางคนอาจมีหลักเป็นครอบครัว บางคนมีหลักเป็นคนรัก ความใฝ่ฝัน การงาน การเรียน หรือการออกไปเที่ยวสังสรรค์กับกลุ่มเพื่อน ซึ่งในบางครั้งหลักเหล่านี้ไม่สามารถให้ผลที่เราคาดหวังไว้

เมื่อเราเสียหลัก นั่นหมายถึง เหตุผลและความรู้สึกที่เราเคยมีกลับใช้การไม่ได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน เราอาจตัดสินใจอะไรไม่ได้เลย อาจเริ่มไม่แน่ใจกับสิ่งที่เราเคยชอบ เคยรัก เคยศรัทธา เคยตั้งมั่นทุ่มเท บางสิ่งในชีวิตของเราอาจไม่เหมือนเดิม อาจทำให้เราผิดหวัง ไม่ก็ตายจากเราไปอย่างไม่สามารถเอากลับคืนมาได้ แต่นอกจากจะเสียหลักจากความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายนอกแล้ว จุดที่อาจทำให้เราพังอย่างถึงที่สุดจริงๆ อาจเป็นการหายไปของหลักที่อยู่ข้างในเราเอง

ในความไร้หลัก เราอาจสัมผัสได้ถึงบางสิ่งที่เรียกร้องจากส่วนลึกของใจ เป็นความรู้สึกที่ไม่ชัดเจนที่อาจทำให้เรานอนไม่หลับ จมอยู่กับความสับสนที่ว่างเปล่าจนอาจเกิดปัญหากับการใช้ชีวิต หรือไม่เช่นนั้น เราก็อาจพยายามทำตัวให้ยุ่งเข้าไว้เพื่อให้ชีวิตสามารถดำเนินต่อไปได้ ทั้งที่ลึกๆ แล้ว อาจมีความโหยหาการเติมเต็มบางอย่างที่มากกว่านั้น

ตั้งหลัก

“บางทีเราก็ต้องมาตั้งหลักกันใหม่ ดีไซน์กันใหม่ เริ่มต้นที่ศูนย์กันใหม่ แต่มันยอมรับได้ยากว่าต้องตั้งหลักใหม่ อาจจะไม่ใช่หลักใหม่สนิท แต่หมายถึงว่ามันก็ไม่เหมือนกับที่วางแผนไว้ แต่บางคนก็คิดว่ามันไม่ใช่ ฉันต้องกลับไปดิ้นรนกับแผนเดิม ก็หลากหลายต่างกันไป”

– ผศ.นพ.ภุชงค์ เหล่ารุจิสวัสดิ์

ผศ.นพ.ภุชงค์ เหล่ารุจิสวัสดิ์

โลกทุกวันนี้ เราสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ที่เคยถูกจำกัดด้วยระยะทางและความแตกต่างทางวัฒนธรรมได้ง่ายขึ้น เราเรียนรู้ได้มากกว่าที่เคย และก็ดูเหมือนว่าจะมีอะไรให้เราเรียนรู้ได้อีกมากมายไม่มีที่สิ้นสุด เราสัมผัสได้ถึงอิสรภาพของชีวิต เป็นตัวของตัวเองมากขึ้น ในอีกทางหนึ่งเราก็มีความคาดหวังต่อชีวิตของเรามากขึ้นตามไปด้วย เราอาจเริ่มมาสนใจการตั้งหลัก เมื่อประสบกับสถานการณ์ที่ยากลำบากต่อสภาวะจิตใจของเรา เราอาจตกงาน ถูกหักหลัง สอบไม่ติด สูญเสียคนรักหรือคนในครอบครัว ฯลฯ ช่วงเวลาเหล่านี้เองที่ทำให้เราได้เริ่มสัมผัสกับการปะทะกันของคุณค่าบางอย่างที่ขัดแย้งอยู่ภายใน ไม่ว่าจะเป็นคุณค่าในยุคสมัยของเรา คุณค่าที่เรารับมาจากครอบครัวและสังคม และแหล่งที่มาอื่นๆ ที่แตกต่างกันออกไป และเรียกร้องการตอบสนองของเราไปคนละทิศละทาง

การตั้งหลักคงเป็นการกลับมาตั้งต้นสำรวจพื้นที่ทางจิตใจที่เราอาจมองข้ามหรืออาจจะยังมองได้อย่างไม่รอบด้าน ผ่านแนวทางทางการแพทย์ จิตวิทยา และจิตวิญญาณ ที่ต่างก็มีจุดร่วมกันอยู่ก็คือความสนใจในมิติภายใน เพื่อที่เราจะสามารถพบหลักบางอย่างที่เราต่างมีอยู่แล้วในตัวเอง และสามารถใช้มันในหนทางในการสัมพันธ์กับชีวิตที่เต็มไปด้วยความหลากหลายและความเปลี่ยนแปลง

“ถ้าทุกท่านกลับมาตั้งหลักว่ามันมีอะไรบางอย่างในตัวเราเองเป็นหลักให้เรายึดอยู่ได้ เป็นหลักให้ อย่างน้อยก็พักพิงได้ในวันเวลาที่ชีวิตมันไม่โอเค ผมว่าคอร์สนี้ก็ประสบความสำเร็จแล้ว”

– สมภพ แจ่มจันทร์

สมภพ แจ่มจันทร์

หลักไม่จริง

ความเป็นมนุษย์ของเราพัฒนาขึ้นจากการเรียนรู้ผ่านเส้นแบ่งบางอย่างเสมอ เราเริ่มรู้สึกถึงความแตกต่างระหว่างเรากับสิ่งแวดล้อม เราแยกแยะสิ่งต่างๆ ออกจากกัน แล้วเราก็ยังพัฒนามาสู่การนิยามว่า… “เราเป็นแบบไหน” “ต้องการอะไรหรือไม่ต้องการอะไร”

เราอาจจะบอกว่า “ฉันเป็นคนขี้อาย” “ฉันรักอิสระ” “ฉันชอบอยู่คนเดียว” “ฉันไม่เอาไหนเรื่องกีฬา”

ตัวตนของเราประกอบขึ้นจากเส้นแบ่งมากมายที่สิ่งแวดล้อมรอบตัวเรากำหนด อาจจะเป็นธรรมเนียมบางอย่างของแต่ละครอบครัว กฎระเบียบของโรงเรียน กฎหมาย ค่านิยมในสังคม ฯลฯ เราต่างปฏิบัติตามสิ่งเหล่านี้เพื่อที่เราจะสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข แต่ข้อกำหนดเหล่านี้ก็เปลี่ยนแปลงได้เสมอ ต่อให้เป็นกฎหมาย ถ้าไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ก็อาจมีข้อยกเว้นหรือแก้ไขได้ ระบบการศึกษาที่กดขี่ความสร้างสรรค์ของปัจเจกก็อาจเปลี่ยนรูปแบบไป ความหลากหลายทางเพศก็ได้รับการยอมรับมากขึ้น ซึ่งเราต่างก็ได้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ไม่มากก็น้อย

ในประสบการณ์ชีวิตที่ใกล้ตัวมากขึ้น เราอาจคิดว่าเราเป็นคนขี้อายเพราะครั้งหนึ่งเราเคยถูกเพื่อนทั้งห้องล้อจากการที่เราใส่ชุดลูกเสือมาคนเดียวในวันที่เป็นวันที่ทุกคนใส่ชุดนักเรียน หรืออาจเป็นรูปแบบของสถานการณ์แย่ๆ ที่เกิดขึ้นซ้ำๆ กับเราอย่างเช่นการพยายามเลี้ยงกระบองเพชรแต่ก็ตายทุครั้ง จนเราบอกกับตัวเราเองว่าชีวิตนี้เราคงดูแลต้นไม้ไม่ได้ หรือครอบครัวของเราอาจแตกแยกกระจัดกระจายจนเรากลัวการที่จะมีความสัมพันธ์หรือลงหลักปักฐานกับใคร

เราอาจยึดติดกับเส้นแบ่งที่คนอื่นกำหนดมากๆ แม้ว่าสถานการณ์จะเปลี่ยนไปแล้ว และเราก็อาจขีดเส้นแบ่งให้ตัวเองโดยไม่รู้ตัวจากประสบการณ์ที่เราเคยได้รับทั้งที่ดีและไม่ดี ครอบครัวของเราอาจเคยห้ามเรามีแฟนตอนที่เรายังเรียนอยู่ แต่เราก็ยังรู้สึกไม่กล้าที่จะมีแฟนทั้งๆ ที่เรียนจบมาตั้งนานแล้ว เราอาจไม่กล้าที่จะเป็นตัวของตัวเองเพราะเรื่องที่เราเคยโดนล้อจากการแต่งตัวผิด ภาพวัยเด็กที่ไม่ได้เป็นในแบบที่เรารู้สึกว่ามันควรจะเป็น และการที่พ่อแม่ของเรายังอยู่ด้วยกัน แต่เราก็รู้สึกว่าทั้งคู่ไม่ได้รักกัน อาจทำให้เรามีเส้นแบ่งที่กลายเป็นกำแพงระหว่างเรากับกับการเข้าไปสัมผัสกับสิ่งที่เรียกว่าความรัก

เส้นแบ่งไม่ใช่ปัญหาในตัวมันเอง เพราะมันก็เป็นสิ่งที่มนุษย์กำหนดขึ้นเพื่อทำความเข้าใจโลก เพื่ออยู่ร่วมกัน เพื่ออยู่รอดในบางสถานการณ์ ถ้าเรามีความเข้าใจมากพอ เราก็สามารถเข้าใจปัญหาของตัวเองและผู้อื่นได้ผ่านการทำความเข้าใจเส้นแบ่งของกันและกันในฐานะ เครื่องมือบางอย่างที่จำเป็นต่อการสัมพันธ์กับสถานการณ์ในชีวิตของแต่ละคน และถึงจะเป็นกรณีที่อีกฝ่ายไม่ได้อยู่ในเงื่อนไขที่จะมาทำความเข้าใจเส้นแบ่งหรือความจำเป็นของเรา การทำความเข้าใจเส้นแบ่งของตัวเองก็เป็นจุดเริ่มต้นหนึ่งในการคลี่คลายปัญหาที่อาจเกิดจากการที่เราพยายามนำเส้นแบ่งที่เราเคยชินไปใช้กับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปแล้วโดยไม่รู้ตัว

เสียงสั่งฝังสมอง

“คำว่าไม่มีปัญหาทางจิต อาจจะไม่ได้เท่ากับมีความสุข อย่างที่ผมเจอผมเจอคนมีปัญหามากกว่าคนไม่มีปัญหา งั้นผมจะมีมุมมองค่อนไปทางที่ว่า ความมีปัญหาคืออะไร สมองที่ทำงานผิดปกติคืออะไร แล้วถ้าเราไม่เจอว่ามันมีอาการบ่งชี้ว่า สมองคุณทำงานผิดปกติ เราก็เรียกมันว่าปกติ แต่ปกติที่ว่า คุณจะเอาสมองไปทำสิ่งที่ทำแล้วมันได้ความสุข หรือคุณจะเอาสมองไปคิดอะไรให้มันผิดหวัง ไม่เป็นตามต้องการแล้วก็รู้สึกแย่จัง อันนี้มันก็แล้วแต่แต่ละคนเลย มันก็เป็นอิสระของการใช้ชีวิต”

– ผศ.นพ.ภุชงค์ เหล่ารุจิสวัสดิ์

การทำงานของสมองมีอยู่หลายด้านและในทุกๆ ด้านก็คือส่วนหนึ่งของความเป็นเรา เราสามารถจดจำข้อมูลได้มากมาย จากแค่คำไม่กี่คำ กลายเป็นชุดความเข้าใจทางภาษา และความสามารถในการอธิบาย สื่อสารสิ่งต่างๆผ่านสิ่งสมมติที่ใช้ร่วมกัน แต่การจำในลักษณะนี้ก็คือการจำข้อมูลแบบดิบๆ โดยที่ยังไม่ถูกประมวลผลใดๆ เป็นแค่การจำชื่อประเทศ ชื่อนักแสดง วันสำคัญทางศาสนา ฯลฯ ที่ถ้าเราไม่รู้ ไม่เคยมีประสบการณ์ หรือไม่ได้ถูกนำขึ้นมาในการรับรู้บ่อยๆ เราก็จะ ไม่รู้

บางครั้งไม่รู้ก็คือไม่รู้ ไม่เคยอยู่ในความสนใจในประสบการณ์ที่เคยมี แต่คำว่า “ไม่รู้” ของเด็กมัธยมปลายที่ถูกผู้ใหญ่ถามว่าอยากเรียนอะไรต่ออาจจะมีความหมายว่า อย่ามายุ่ง ไม่อยากคิดต่อ ยังไม่ชัดเจน หรืออาจจะรู้แต่กลัวคำพูดที่จะตอบกลับมาหลังจากบอกไป

ที่มาภาพ : Liza Summer จาก Pexels

“เราก็มีเรื่องที่เราไม่รู้ในชีวิต แต่การไม่รู้มันมีหลายแบบ และถ้าเมื่อไหร่ในใจเรามีคำว่าไม่รู้โผล่ขึ้นมา ก็คงต้องเช็คตัวเองนิดหนึ่งว่ามันคือแบบไหน”

– ผศ.นพ.ภุชงค์ เหล่ารุจิสวัสดิ์

เราสามารถคิดเป็นภาพได้ เมื่อบอกว่า ส้ม ในเงื่อนไขที่ว่าเรามีประสบการณ์ที่เกี่ยวกับส้มมาก่อน เราก็นึกถึงส้มของเราในทันที เมื่อเราถูกถามว่า 4+4 เท่ากับเท่าไหร่ เราแทบจะหาคำตอบโดยไม่คิดถึงภาพตัวเลขหรือสัญลักษณ์ที่สัมพันธ์กับโจทย์ได้เลย ในคนที่คลุกคลีอยู่กับการทำงานที่เกี่ยวข้องกับสมองส่วนอื่นๆเป็นพิเศษอาจคิดเป็นกลิ่น เสียง สัมผัส หรือรสชาติได้ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วการรับรู้ภาพเป็นสิ่งที่ใกล้เคียงกับความคิดมากกว่าประสาทสัมผัสส่วนอื่นๆ ทั้งในด้านระยะทาง ความกว้างของมิติ และในทางโครงสร้างของระบบประสาท

เรายังมีระบบการคิดแบบสั่งการที่คอยบอกว่าเราต้องทำอะไร ซึ่งเราได้รับมาในระหว่างการเรียนรู้ที่จะมีชีวิต เราอาจโตมาในเงื่อนไขบางอย่างที่ทำให้เราจำเป็นที่จะต้องขยันขันแข็งเป็นเวลาหลายต่อหลายปีเพื่อที่จะอยู่รอดทั้งในทางกายภาพและทางตัวตน ยิ่งเราสามารถจดจำคำสั่งหรือใช้คำสั่งนี้กับตัวเองได้ดีเท่าไหร่ ก็เท่ากับว่าเรามีโอกาสเพิ่มขึ้นที่จะอยู่รอดในเงื่อนไขนั้นๆ และการอยู่รอดนั้นก็จะง่ายกับความรู้สึกของเรามากขึ้น

เราอาจรู้ตัวว่าเราเป็นคนขยันเพราะเรามีประสบการณ์ที่เข้มข้นกับเงื่อนไขแบบหนึ่ง และสามารถใช้ความขยันในการพัฒนาชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งถ้าเราไม่ได้เข้าไปอยู่ในเงื่อนไขที่ “ความขยันฝังหัวของเรา” จะสร้างปัญหา ชีวิตเราก็จะไม่มีปัญหา แต่ถ้าหากเรามีความสัมพันธ์กับใครสักคน อย่างเช่นคนรักที่เราอาจผ่านช่วงที่ต่างฝ่ายต่างแสดงศักยภาพในด้านที่ต่างฝ่ายต่างพอใจออกมา แล้วเราก็เริ่มพบว่าคนรักของเราเป็นคนที่ขี้เกียจ หรือมีพฤติกรรมบางอย่างที่ขัดกับตัวตนของเราเป็นพิเศษ จุดนี้เองที่ “ชุดคำสั่งที่ติดตัวเรา” จะก่อให้เกิดปัญหา หากเราไม่สามารถที่จะตระหนักได้ว่าเรามีสิ่งนั้นเพื่อ “เป็นศักยภาพ” ของเรา ไม่ใช่เพื่อ “เป็นเส้นแบ่ง” ที่เราจะใช้ขวางกั้นตัวเองออกจากการใช้ชีวิตในมิติอื่นๆ โดยเฉพาะกับสิ่งหรือผู้คนที่ลึกๆแล้วใจเราก็ต้องการที่จะเปิดออกเพื่อที่จะเข้าไปสัมพันธ์ด้วย

ที่มาภาพ : Ron Lach จาก Pexels

การที่เราฝึกมาแบบไหน เราก็เป็นแบบนั้น และเราก็มีแนวโน้มที่จะเป็นแบบเดิม ทำแบบเดิม เลือกตอบสนองแบบเดิมในปัจจุบัน ซึ่งถ้าเราต้องการที่จะเปลี่ยนแปลง เพื่อเพิ่มทางเลือกใหม่ๆ ให้กับตัวเราเองนอกเหนือจากอะไรเดิมๆ ที่มักจะกลายเป็นกรงขังของตัวเราในบางสถานการณ์ สิ่งที่เราต้องทำก็ไม่ต่างจากตอนที่เราใช้เวลาฝึกในสิ่งที่เรามีในตอนนี้ แต่สิ่งที่จะทำให้การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ของเราต่างไปจากเดิมนั้น อาจจะอยู่ที่ว่าเราเริ่มที่จะ “รู้ตัว” มากกว่าเดิม เริ่มที่จะสัมผัสได้ถึงความต้องการที่อาจถูกบดบังไว้ด้วยสาเหตุของเงื่อนไขบางประการมากขึ้น

ร่องของความเคยชิน

“วันก่อนผมไปที่ร้านอาหารตามสั่งแล้วก็สั่งข้าวไข่เจียวหมูสับ พนักงานที่มารับออเดอร์ก็ถามผมว่าเอาไข่ดาวไหม ก็คงเพราะความเคยชินที่เขาต้องถามคนที่มาสั่งอาหารประเภทอื่นว่าเอาไข่ดาวด้วยไหม เขาก็เลยถามผมเหมือนกัน เราก็คงอยู่กับความเคยชินประมาณนี้”

– สมภพ แจ่มจันทร์

ความเคยชินเองก็มีแง่มุมที่เป็นประโยชน์ในฐานะเครื่องมือที่ทำให้เราสามารถทำบางสิ่งให้ได้ผลออกมาเรียบร้อยในแบบของมัน แต่ความเคยชินก็สามารถทำให้เราติดอยู่กับสถานการณ์บางอย่างแล้วไปต่อไม่ได้ เพราะเราไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อไป เราอาจรู้สึกถึงข้อจำกัดบางอย่างจนเราคิดไปแล้วว่าไม่มีทางไปต่อสำหรับสถานการณ์ตรงหน้า หรือไม่เราก็ตอบสนองมันไปด้วยความเคยชินเดิมๆ ด้วยความต้องการที่จะทำอะไรสักอย่างซึ่งก็อาจไม่ได้ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรเท่าไหร่นัก

ในทางหนึ่งก็ดูเหมือนว่าตัวเราจะชัดเจนและมั่นคงขึ้นเรื่อยๆ จากเส้นแบ่งที่เราขีดให้ไว้กับตัวเอง แต่หลายครั้งเราเริ่มสับสนและอาจเสียหลักไปกับปัญหาบางอย่างที่ไม่ใช่เรื่องของเราคนเดียว แต่รวมเอาทั้งความต้องการส่วนตัวและสิ่งอื่นที่เราให้ความสำคัญเข้าไว้ด้วยกัน และแม้ว่าเราจะเริ่มเห็นรูปแบบและแนวโน้มในการขีดเส้นของตัวเองแล้ว กระบวนการของการเปลี่ยนแปลงก็ไม่ได้รวดเร็วทันใจหรือทำให้เรารู้สึกว่าอะไรๆ มันง่ายขึ้นมากนัก หรือเราอาจจะรู้สึกว่ามันยากขึ้นด้วยซ้ำ

ที่มาภาพ : Aviz จาก Pexels

เพราะว่าการยอมรับว่าเรามีเส้นแบ่งอะไรเป็นข้อจำกัดก็เป็นเรื่องหนึ่ง แต่การที่เราต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงหรือก้าวข้ามเส้นแบ่งที่เรารู้สึกว่าเป็นปัญหานั้น คือการที่เราเริ่มต้นเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ที่จะเผชิญหน้ากับความเคยชินของตัวตนที่เราอาจพยายามหลีกเลี่ยงมาโดยตลอด การสังเกตและทำความเข้าใจรูปแบบในการรับรู้และตีความสิ่งที่เกิดขึ้นบนเส้นแบ่งของตัวตนจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการเริ่มทำงานกับปัญหาในจิตใจ

เราอาจสามารถมีหนทางในการรับมือกับปัญหาที่เขากำลังประสบพบเจอได้มากขึ้น แต่ในหลายๆเรื่องก็ดูเหมือนว่าจะเกินความสามารถในการคิดหาหนทางของเราจริงๆ ซึ่งอาจเป็นเพราะว่าเรื่องบางเรื่องก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับมิติทางความคิดเพียงอย่างเดียว และตัวเราก็ความเคยชินกับการคิดจนบางทีเราก็ปฏิเสธแง่มุมอื่นๆ ภายในตัวเอง

การเว้นระยะห่างจากความคิดเพื่อสังเกตตัวเราจากมิติอื่นๆ ก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เราสามารถมองตัวเองและปัญหาที่เรากำลังเผชิญได้อย่างรอบด้านมากยิ่งขึ้น

เสียงจากกายอันละเอียดอ่อน

“ไม่ว่าจะเป็นการคุยกับจิตแพทย์ หรือกับนักจิตวิทยา สุดท้ายมันก็ต้องมีพื้นที่ ถ้าเรายังติดอยู่ในความคิด อยู่ในปัญหา หรือวิธีการที่พยายามจะแก้ไขอะไร มันก็คงปราศจากพื้นที่ ผลคือเราก็จะไม่สามารถมองปัญหาได้อย่างรอบ”

– วิจักขณ์ พานิช

วิจักขณ์ พานิช

เราอาจเคยชินกับการพยายามคิดให้จบ และเราก็อาจจะสามารถทำเช่นนั้นได้ แต่โดยส่วนมากสิ่งที่ออกมาจากการขับเคี่ยวกับวังวนของความคิดอย่างหนักหน่วงก็มักจะออกมาไม่ค่อยได้อย่างที่เราจะรู้สึกดีกับมันเท่าไหร่นัก หลายครั้งเราอาจจมอยู่ในความคิดเป็นเวลานานและไม่ได้อะไรกลับมาเลยนอกจากความหนักอึ้งและอารมณ์ลบๆ ที่ตกค้างอยู่ภายใน เราอาจต้องกินยาคลายกล้ามเนื้อ ยานอนหลับ หรือต้องพึ่งพาสิ่งเสพติดบางอย่างเป็นตัวช่วยในการผ่อนคลาย แต่ตัวช่วยเหล่านั้นก็มักจะตามมากับผลข้างเคียงที่ในที่สุดแล้วก็ทำให้เรารู้สึกว่าไม่ได้ผ่อนคลายอย่างแท้จริงอยู่ดี และก็อาจทำให้ความสามารถในการผ่อนคลายตัวเองของเราต้องไปพึ่งพิงสิ่งเหล่านั้นมากขึ้นจนกลายเป็นอาการเสพติดอีกด้วย

เมื่อเราต้องเจอกับเรื่องราวที่สะสมมากขึ้นเรื่อยๆ โดยที่เราไม่ได้มีโอกาสได้พูดคุย ระบายออก หรือทำงานกับมัน เราก็จะเริ่มมีอาการเครียด และถ้าเราลองสังเกตสิ่งที่เกิดขึ้นในร่างกาย เราอาจพบกับความตึง เกร็ง แน่น อึดอัด เจ็บปวด หรือชา ซึ่งความเจ็บป่วยทางกายนี้เองก็เป็นสัญญาณหนึ่งที่กำลังบอกบางอย่างกับเรา เป็นสิ่งเราสามารถสังเกต และรับฟังได้

สัญญาณบางอย่างก็เกิดขึ้นในร่างกายของเราอยู่ตลอดเวลา การฟังร่างกายของเราเป็นอีกช่องทางสำคัญในการสื่อสารกับตัวเรานอกเหนือจากการคิด เมื่อเรารู้สึกว่าจิตใจปลอดโปร่ง ร่างกายของเราก็จะรู้สึกเบาสบาย แต่เมื่อเราเครียด ร่างกายของเราก็มักจะเกร็งตึงตามไปด้วย มือของเราเย็นเมื่อเรากลัว ท้องไส้ของเราปั่นป่วนเมื่อเรากังวล

อาการทางกายบางอย่างก็เป็นอาการที่ตรงไปตรงมาอย่างเช่น ความหิว ง่วง ปวดท้องถ่าย เจ็บแผล ฯลฯ ซึ่งทางแก้ก็ตรงไปตรงมาตามสิ่งที่อาการเรียกร้องเช่นเดียวกัน แต่นอกจากที่กายจะแสดงความต้องการของตัวเองออกมาอย่างตรงไปตรงมาแล้ว กายก็เป็นส่วนหนึ่งของจิตใจอีกด้วย และหลายครั้งอาการทางกายที่เกิดขึ้นก็มาจากบางสิ่งบางอย่างในจิตใจของเรา ซึ่งทางเดียวที่เราจะรู้ตัวว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นกับเราอย่างแท้จริงนั้น ก็คือ การกลับมาอยู่กับร่างกาย

“Meditation จะมาช่วยเราให้ละเอียดอ่อนกับกระบวนการทางกายเหล่านี้มากขึ้น ซึ่งการรู้ตัวตรงนี้คือสิ่งที่เรียกว่า Awareness”

– วิจักขณ์ พานิช

เราเผชิญหน้ากับความเคยชินของตัวตนแบบตรงๆ เพราะโดยปกติแล้วเรามักจะพยายามหาทางตอบสนองอาการทางกายที่กำลังเรียกร้องเรา ยิ่งอาการนั้นรุนแรงมากเท่าไหร่เรายิ่งดิ้นรนกับการตอบสนองมันมากเป็นพิเศษ แต่ในเวลาที่เราสามารถเว้นระยะจากการตีความผ่านความเคยชินทางความคิดและกลับมาอยู่เฉยๆ กับร่างกายได้ พื้นที่ในการรับรู้สิ่งต่างๆ ที่กำลังเป็นไปก็จะมีมากขึ้นโดยธรรมชาติ

เราอาจรับรู้ได้ว่าความเครียดกำลังมีอิทธิพลกับเรา ผ่านการสังเกตอาการปวดท้องที่เราอาจคิดว่ามันคือความหิว และเมื่อเราสามารถเปิดพื้นที่ของการรับรู้ได้ ความเครียดก็อาจจะหายไป อาการปวดท้องก็อาจจะหายไป หรือมันอาจจะไม่หายไปก็ได้ แต่เราจะมีพื้นที่ให้กับมันอยู่กับเราได้ เราไม่ได้กลับมาอยู่กับร่างกายเพื่อควบคุมให้ทุกสิ่งเป็นไปตามที่เราต้องการ แต่เราแค่กลับมารู้ตัวและสามารถผ่อนคลายกับกระบวนการภายในของเรา

พื้นที่ที่เปิดออกจากการผ่อนคลายและการรู้ตัวอย่างเป็นธรรมชาตินี่แหละที่อาจจะเป็นหลักให้แก่เราได้