Layers of Space: ความว่างที่มีระดับ

การเดินทางสู่มณฑลแห่งการตื่นรู้ (2): พื้นที่ว่าง 3 ระดับ   
บทความ โดย ดิเรก ชัยชนะ

หลายท่านที่เคยร่วมกิจกรรมของวัชรสิทธาคงได้เคยยินคำว่า “Space”  ซึ่งแปลความว่า “พื้นที่” “พื้นที่ว่าง” หรือ “มณฑลแห่งการตื่นรู้” กันอยู่บ่อยๆ แม้แต่ในบทสวดมนต์ของสังฆะวัชรปัญญา ตั้งแต่หน้าแรกก็ยังได้เน้นย้ำถึงการใคร่ครวญและฝึกปฏิบัติกับคำนี้ไว้ดังนี้

เยเช โซกยัล กล่าวไว้

“มณฑลแห่งการตื่นรู้ และการตระหนักรู้ในมณฑล นี่คือข้อความพื้นฐาน”

Space and the awareness of space. This is basic message.

ในฐานะผู้ปฏิบัติภาวนาตามรูปแบบที่ให้ความสำคัญกับการรับรู้อันแม่นยำ เที่ยงตรง และเปิดกว้างต่อความคิดและอารมณ์ คำว่า “Space” มีความหมายอันลึกซึ้ง และเกี่ยวข้องอย่างไรกับการฝึกภาวนา?

เมื่อกล่าวถึงความหมายของคำว่า Space ชวนให้รับรู้ถึงคุณลักษณะของพื้นที่ไม่ว่าจะเป็นขนาด, ขอบเขต, ระยะห่าง และตำแหน่ง

นอกจากนี้คุณลักษณะของพื้นที่ย่อมเกี่ยวข้องกับ “ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่นั้น” ด้วย ไม่ว่าจะเป็นชั้นของระนาบ ความลึก ความเข้มข้น หรือสีสัน

และหากกล่าวจากมุมมองของ somatic meditation ความหมายของ Space หรือมณฑลแห่งการตื่นรู้นี้ย่อมเกี่ยวข้องกับร่างกาย อันเป็นพื้นที่ของการรับรู้ประสบการณ์จากปรากฏการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นทั้งภายในและภายนอกร่างกาย

ในคอร์สภาวนาระยะยาวครั้งหนึ่งที่สวนโมกข์ ครูตั้ม วิจักขณ์ พานิช เคยกล่าวถึงประสบการณ์ของเราต่อ Space ไว้ 3 ระดับ ดังนี้     

  • พื้นที่ภายนอก (Outer/ Subtle Space) หมายถึง ร่างกายที่เป็นพื้นที่ของการสัมผัสรับรู้ปรากฏการณ์ต่างๆภายนอก อาทิ เช่น ความเกร็ง ความตึง ความปวดเมื่อย ความร้อน เย็นของสภาพแวดล้อมภายนอก รวมถึงผู้คน และสิ่งต่างๆรอบๆ)
  • พื้นที่ภายใน (Inner Space) หมายถึง พื้นที่ของอารมณ์ความรู้สึกที่ปรากฏขึ้นภายในกาย อาทิ เช่น ความรู้สึกระยิบระยับ ความรู้สึกถึงชีพจร ความรู้สึกเคว้งๆโหวงๆ ความรู้สึกแน่น ปั่นป่วน ความรู้สึกอบอุ่น เบาสบาย
  • พื้นที่เร้นลับ (Secret/ Very Subtle Space) หมายถึง พื้นที่ยากต่อการนิยามหรือจำกัดความ เป็นพื้นที่ของความเปิดกว้างที่ดำรงอยู่เป็นพื้นฐานที่สามารถรับรู้ได้ผ่านประสบการณ์ตรง ตามความเข้าใจของผมประสบการณ์ของความว่าง ความเปิดกว้าง ความศักดิ์สิทธิ์ หรืออิสรภาพที่สัมผัสได้จากประสบการณ์ภาวนา มีความเกี่ยวข้องกับการเปิดสู่พื้นที่เร้นลับที่ว่านี้  

เมื่อเราเริ่มต้นนั่งบนเบาะภาวนา เรานั่งด้วยการเชื่อมโยงกับการรับรู้ทางร่างกาย เราให้โอกาสตัวเองอยู่กับประสบการณ์ต่างๆ ภายในร่างกายของเราอย่างที่เป็น ประสบการณ์ดิบๆในเนื้อในตัว ที่ไปพ้นจากความคิด การตีความ การตัดสิน การสร้างเรื่องเล่าและคำอธิบาย

  • เราเริ่มต้นรับรู้ถึงท่านั่งและสภาวะแวดล้อมภายนอกผ่านร่างกาย
  • จากนั้นมาค่อยมารับรู้พื้นที่ภายในกาย เช่น ท้องน้อย หน้าอก ลำคอ หรือพื้นที่บริเวณฝีเย็บ(จุดดิน) พร้อมกับการสัมพันธ์อยู่กับลมหายใจ นอกจากนี้ ช่วงที่เราหายใจออกยังสามารถลองตามลมหายใจออกแล้วสำรวจพื้นที่ว่างที่ปลายสุดตรงปลายหายใจออก ก่อนจะหายใจเข้าได้เช่นเดียวกัน กล่าวได้ว่า มีพื้นที่ภายในกายหลายตำแหน่งที่ให้เราเข้าไปสัมพันธ์และรับรู้ถึงประสบการณ์ภายในกายช่วงนั่งภาวนา และถ้าหากว่า มีความคิด อารมณ์ ความรู้สึก ผุดขึ้น เพียงรับรู้ และปล่อยให้เป็นโดยไม่เข้าไปจัดการหรือควบคุม
  • เมื่อสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องและปล่อยให้เป็นตามธรรมชาติได้ เราอาจสัมผัสได้ถึงความผ่อนคลาย ความเปิดกว้าง หรือความไว้วางใจที่ดำรงอยู่ตรงนั้นเสมอ ถึงแม้ว่าความเข้าใจเกี่ยวกับ Space ค่อนข้างจะอธิบายได้ยาก แต่สามารถสัมผัสรับรู้ได้ผ่านประสบการณ์ตรงหรือประสบการณ์ของความตระหนักรู้ของบุคคล

เมื่อเราอนุญาตให้ตัวเองเชื่อมโยงกับพื้นที่ว่าง (ทั้งสามระดับ) อนุญาตให้ประสบการณ์ต่างๆที่ผ่านเข้ามา อยู่ตรงนั้น แล้วปล่อยไป ด้วยท่าทีที่เปิดกว้าง ด้วยท่าทีของความไว้วางใจ ไม่เชื้อเชิญ ไม่ขับไล่ ชั่วขณะนั้นเราอาจจะเห็นความเป็นไปได้ใหม่ๆ นอกเหนือจากประสบการณ์ที่เกิดจากความเคยชินเดิมๆ ซึ่งมาจากรูปแบบของแบบแผนความคิด

ชั่วขณะที่เรารับรู้ประสบการณ์ตรงอันสดใหม่ผ่านการสัมพันธ์กับพื้นที่ว่างภายนอก ภายใน และเร้นลับ คือชั่วขณะแห่งอิสรภาพ