การตื่นรู้ของผู้ถูกกดขี่ (1) : อำนาจ การใช้อำนาจ และการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง

สรุปกิจกรรม โดย KHANOON

“การตื่นรู้ของผู้ถูกกดขี่” เป็นคอร์สอบรมที่จัดขึ้นที่วัชรสิทธา โดยมี อ.ก๋วย พฤหัส พหลกุลบุตร กระบวนกรที่ทำงานด้านการศึกษาเพื่อปลดปล่อยผู้เรียนและเปลี่ยนแปลงสังคมมาอย่างช่ำชองยาวนานเป็นผู้สอน สิ่งที่ อ.ก๋วยนำมาออกเป็นกิจกรรมทั้งหมดได้อิทธิพลจากแนวคิดของเปาโล เฟรเร่ (Paulo Freire) นักการศึกษาชาวบราซิล ผู้เขียนหนังสือ “การศึกษาของผู้ถูกกดขี่” เป็นแรงบันดาลใจสำคัญ รวมทั้งได้ต้อนรับผู้เข้าร่วมกลุ่มใหม่ๆ อย่างครู และคนที่ทำงานด้านสิทธิมาร่วมสรรค์สร้างพื้นที่แห่งการเรียนรู้ด้วย

เปาโล เฟรเร่

เปาโล เฟรเร่ เกิดในครอบครัวชนชั้นกลาง เขาคงจะมีชีวิตที่ไม่ต้องประสบกับความหิวโหยและความยากจน หากเขาไม่ได้เกิดในช่วงที่โลกเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่อย่าง Great Depression เราอาจจะเคยอดกินข้าวเช้าเพื่อให้เข้าเรียนทันแล้วต้องไปนั่งหิวในห้อง แต่สำหรับคนที่ไม่มีแม้แต่อาหารจะกินคงไม่มีตัวเลือกมากนัก ประสบการณ์การหิวจนเรียนไม่รู้เรื่อง และการอาศัยร่วมกับคนยากจนของเฟรเร่ชักนำเขาเข้าสู่การทำงานเพื่อพัฒนาชีวิตผู้คนในชนชั้นแรงงาน

“I didn’t understand anything because of my hunger. I wasn’t dumb. It wasn’t lack of interest. My social condition didn’t allow me to have an education. Experience showed me once again the relationship between social class and knowledge”

– Paulo Freire

นอกจากนี้สภาพการเมืองและสังคมของบราซิลขณะนั้นยังมีอิทธิพลอย่างมากต่อปรัชญาการศึกษาของเฟรเร่ ประเทศบราซิลตกเป็นเมืองขึ้นของโปรตุเกสกว่า 300 ปี ก่อนจะได้รับการปลดปล่อยในปี 1822 ถึงอย่างนั้นบราซิลก็ยังถูกปกครองโดยกองกำลังทหาร ในช่วงชีวิตของเฟรเร่เองก็เคยต้องลี้ภัยหลังมีการรัฐประหาร อีกทั้งบราซิลยังเป็นประเทศสุดท้ายในชาติตะวันตกที่ประกาศเลิกทาสอยางเป็นทางการในปี 1888 จากสภาพการณ์ทั้งหมดนี้ทำให้เห็นว่าโครงสร้างอำนาจส่งเสริมให้เกิดการกดขี่ในสังคม และระบบการศึกษาก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สร้างการกดขี่

อำนาจ

เพื่อเข้าใจเรื่องอำนาจซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการกดขี่ อ.ก๋วยชวนเรามาสำรวจคำนิยามตัวตนของเราที่ผูกโยงอยู่กับสถาบันหรือระบบต่างๆ ในสังคม เราอาจเพิ่งตระหนักถึงสิทธิที่ได้รับเหนือคนบางกลุ่มจากสถานะที่เรามีมาตั้งแต่เกิด เช่น การเป็นคนไทยกับการเป็นชนกลุ่มน้อย บางสถานะอาจได้รับมาทีหลัง เช่น ระดับการศึกษาซึ่งมีผลต่อการสร้างรายได้

“อำนาจ คือ สิ่งที่อยู่ข้างในตัวเราอยู่แล้ว ไม่ได้เกิดจากการกระทำหรือสถานการณ์บางอย่างที่ทำให้เราไปกดขี่คนอื่น ในบางสถานการณ์เราก็เป็นทั้ง 2 บทบาท เป็นผู้กดขี่โดยที่ไม่รู้ตัวจากสถานภาพบางอย่าง และในขณะเดียวกันบางครั้งเราก็กลายเป็นผู้ถูกกดขี่ด้วยเช่นกัน”

กิจกรรมทำให้เราได้กลับไปตรวจสอบแหล่งอำนาจบางอย่างที่มีอยู่ในตัวคนหลายๆ เรื่อง เช่น เพศ ชาติกำเนิด ระดับการศึกษา ความสามารถทางการคิด ความฉลาด ฐานะทางเศรษฐกิจ ถิ่นกำเนิด สีผิว ทั้งหมดนี้เป็นแหล่งอำนาจที่อยู่กับตัวทั้งสิ้น ทำให้เราตระหนักถึง privilege ที่เรามี หรืออำนาจที่มีมากกว่าคนอื่น การไม่ได้ตระหนักถึงความแตกต่างของพลังอำนาจเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตัวเรา เช่น ไปใช้ภาษาอังกฤษในกลุ่มคนที่ไม่รู้หนังสือ มันเป็นการไปตอกย้ำการมีอำนาจของเราแม้ว่าจะไม่ได้ตั้งใจก็ตาม

จุดเริ่มต้นของการเรียนรู้เรื่องการกดขี่ ไม่ว่าจะเป็นผู้กดขี่หรือผู้ถูกกดขี่ก็ตามคือ การได้ตระหนักถึงอำนาจเหล่านี้ในตัวเอง และของคนอื่น ทำให้เรามองเห็นมันได้ชัดขึ้น หลายครั้งถ้าเราไม่ได้กลับมาสู่จุดเริ่มต้นของการตระหนักถึง identity หรืออำนาจที่มีในตัวเรา เรามักจะเผลอพลั้ง หรือกระโดดเข้าไปในสถานการณ์ของสังคมโดยที่เราไม่ได้ตั้งคำถาม จากแม้กระทั่งตัวเราเอง”

อำนาจโดยตัวมันเองไม่ใช่สิ่งชั่วร้าย เราสามารถเห็นตัวอย่างของคนที่ใช้อำนาจเพื่อเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่นอยู่บ้าง แต่นั่นไม่ใช่ตัวอย่างที่เห็นได้ดาษดื่นในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกาลปัจจุบัน เราเห็นการใช้อำนาจจากเจ้าหน้าที่รัฐ บางครั้งการใช้อำนาจก็อยู่ในหน่วยย่อยอย่างครอบครัว หรือระหว่างปัจเจก

การใช้อำนาจ

นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมที่ได้อิทธิพลจากแนวคิดของ ออกัสโต บูอาล (Augusto Boal) นักการละครของผู้ถูกกดขี่ (Theater of the Oppressed) ชาวบราซิลผู้ได้รับอิทธิพลทางความคิดโดยตรงมาจากเฟรเร่ เขาทำงานกับคนไม่รู้หนังสือและแรงงาน โดยใช้ action หรือละครเป็นส่วนหนึ่งในการตระหนักถึงอำนาจภายในและปลดปล่อย เช่น การได้ส่งเสียงความรู้สึกของผู้ถูกกดขี่ออกมา

กิจกรรมชวนผู้เข้าร่วมสำรวจรูปแบบของการใช้อำนาจ อย่างแรกคือ อำนาจเหนือ หรืออำนาจแข็ง (power over) อ.ก๋วยอธิบายว่าเป็นอำนาจที่มาโดย authority ไม่ว่าจะเป็นกระทรวง เจ้านาย อำนาจที่เรามียศสูงกว่า เราแก่กว่า มีประสบการณ์ เก๋าเกมมากกว่า มีลักษณะของการใช้อำนาจควบคุม

นอกเหนือจากอำนาจเหนือที่คอยควบคุมสั่งการ ตัวเลือกที่ดีกว่าคืออำนาจร่วม (power sharing) เป็นการแบ่งปันและกระจายอำนาจที่เรามี ทำให้ลุกขึ้นมากำหนดนโยบาย หรือแนวทางชีวิต หรือส่งเสียงตามแนวทางของเราได้โดยไม่ต้องรอคำสั่งจากเบื้องบน

การกำหนดรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างคนสองคนให้มีการใช้อำนาจร่วมอาจจะเป็นเรื่องง่ายขึ้นมาหน่อย แต่ในชีวิตจริงวงความสัมพันธ์ของเราไม่ได้จำกัดอยู่เพียงเท่านั้น การใช้อำนาจในระดับองค์กรที่มีทั้งผู้บริหาร หัวหน้าแผนก และพนักงานธรรมดา จะเป็นอย่างไร? บูอาลคิดค้นออกแบบกิจกรรมที่ดัดแปลงมาจากเกม Landlord โดยมีทั้งหมด 4 หน่วย 1 คือเจ้าของที่ดิน มีอำนาจควบคุม 2 ซึ่งเป็นเจ้าของแรงงาน และ 2 ก็สามารถควบคุม 3 กับ 4 ที่เป็นแรงงานได้อีกทอด ทำให้เราเห็นโครงสร้างอำนาจและการใช้อำนาจในมุมกว้างกว่าเดิม

“โดยปกติผู้กดขี่มีจำนวนนิดเดียวในสังคม แต่ส่งผลควบคุมสังคมหรือทั้งประเทศได้ เพราะฉะนั้นชนชั้นนำหรือผู้มีอำนาจเหนือมีบทบาทมากในการควบคุมผู้คน สิ่งสำคัญคือจะทำยังไงที่จะพลิกสามเหลี่ยมอันนี้กลับ ไม่ได้ให้ชนชั้นนำเป็นคนบนยอด ก็ต้องสร้างอำนาจเปลี่ยนแปลง ใช้อำนาจร่วมกัน

การจะมีสิ่งนี้ได้ เราต้องสร้างสิ่งที่เรียกว่าอำนาจภายในให้กับผู้คน ผู้ถูกกดขี่ คนยากจน คนไม่รู้หนังสือ คนระดับล่าง คนชายขอบ หรือคนที่อำนาจน้อย สังเกตว่าคนเหล่านี้เขามีอำนาจน้อยโดยตัวเขาเองอยู่แล้ว สองคือเขาถูกทำให้เชื่อว่าเขามีอำนาจน้อยผ่านวาทกรรมหรือการควบคุมต่างๆ เขาไม่เคยถูกฟังเลย ทำยังไงเขาถึงจะรู้สึกว่าเขามีพลังอำนาจ เสียงของเขามีบทบาทในการสร้างความเปลี่ยนแปลง หรือกำหนดนโยบายของชีวิตตัวเองได้”

ถัดจากอำนาจเหนือ และอำนาจร่วม ยังมีอำนาจอีกรูปแบบหนึ่งที่มีอยู่ในตัวบุคคล หรือที่เรียกว่าอำนาจภายใน (power within) อย่างที่เราทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องอำนาจในตอนแรกไปแล้ว อำนาจเป็นสิ่งที่มีอยู่ในตัวเราทุกคน แต่เหนือกว่าอำนาจที่มาจากเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ เพศ ฐานะทางเศรษฐกิจ ฯลฯ คือการที่เราตระหนักว่าเรามีสิทธิในชีวิตของตัวเอง มีเสียงที่ควรค่าแก่การรับฟัง ไม่ใช่สิ่งของที่คนอื่นจะมากำหนดโชคชะตาให้


พลิกเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจ

“ในฐานะที่เราเป็นผู้ถูกกดขี่ เราจะทำยังไงที่จะสร้างอำนาจภายในให้ตัวเองเข้มแข็ง empowering เพื่อไปสร้างอำนาจร่วม เพื่อไปแบ่งปันอำนาจกับผู้มีอำนาจด้านบนให้มีอำนาจร่วมกันได้อย่างไร เป็นอุดมคติภาพใหญ่ที่เฟรเร่เรียกว่าสวรรค์ ก็ต้องเริ่มตั้งแต่ตอนนี้เพื่อไปให้ถึง

ถ้าเราพลิกสามเหลี่ยมกลับด้านลง อำนาจมันไม่ได้มีอยู่ด้วยตัวมันเอง แต่ว่าอำนาจมันถูกค้ำยันโดยเสาบางอย่างที่สนับสนุนให้อำนาจนั้นอยู่ได้ในสังคม เช่น สื่อมวลชน ทุน มวลชน ราชการ กองทัพ อาวุธ รัฐบาลที่ผ่านการเลือกตั้ง ถ้าเราทำให้เสาอ่อนแอลง เอาออก หรือเรียกมาเป็นพวกได้ ปลดปล่อยการกดขี่นี้ออกไปได้ สิ่งเหล่านี้เป็นความคิดเชิงยุทธศาสตร์ที่ต้องใช้เวลานานในการสร้างความเปลี่ยนแปลง”

เช่นเดียวกับที่ผู้ถูกกดขี่ต่อสู้เพื่อปลดปล่อย ผู้กดขี่ก็พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อคงอำนาจไว้ เราเห็นการใช้กำลังทหาร อาวุธ หรือแม้กระทั่งกฎหมายเพื่อสยบการลุกฮือของมวลชน ไปจนถึงการกล่อมเกลาความคิดผ่านแบบเรียนเพื่อสืบทอดแนวคิดที่แข็งทื่อไม่เข้ากับยุคสมัย และไม่คิดจะเปลี่ยนแปลง หลายครั้งที่เราต้องต่อสู้กับผู้ถูกกดขี่ด้วยกันเองเพราะความจริงสูงสุดที่อีกไม่เข้ากับยุคสมัย และไม่คิดจะเปลี่ยนแปลง หลายครั้งที่เราต้องต่อสู้กับผู้ถูกกดขี่ด้วยกันเองเพราะความจริงสูงสุดที่อีกฝ่ายยึดมั่น ไม่จริงในสายตาเราอีกแล้ว

“สิ่งสำคัญที่ผู้ควบคุมหรือผู้กดขี่ทำงานกับผู้ถูกกดขี่ คือการทำงานกับความกลัวแล้วขังเขาไว้ในความกลัวนั้น วันใดที่เราถูกขังไว้ด้วยความกลัว มันก็จะเงียบ เป็นวัฒนธรรมแห่งความเงียบงันที่เฟรเร่พูดถึง ผมคิดว่าการเพิ่มเพดานแค่วันละนิดของทั้งสังคมสร้างแรงสั่นสะเทือน ไม่ต้องไปเร่งร้อนให้ทุกคนออกมาม็อบ ลองเขยิบมากกว่านี้อีกนิดหนึ่งได้ไหม เพราะแต่ละคนมีเพดานของการเขยิบไม่เท่ากัน เส้นของความกลัวก็จะบางลง มีผลกับเราน้อยลง”

อ.ก๋วย พฤหัส

“การ aware ทำให้เราเข้าใจปัจเจกหรือมนุษย์ แล้วก็เข้าใจโครงสร้างของเขาด้วยว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างอำนาจที่ปฏิเสธสิ่งนี้ไม่ได้ ถ้าเรา aware 2 ชั้นนี้ได้บ่อยๆ เราจะสามารถวิพากษ์วิจารณ์ในภาพรวมได้ โดยไม่เพ่งโทษไปแต่ที่ตัวบุคคล”

พูดมาจนถึงตอนนี้ อำนาจเหนือคงเปรียบได้กับผู้ร้าย เพราะฉะนั้นเราไม่ควรใช้อำนาจเหนือเลยรึเปล่า และเป็นไปได้ไหมที่เราจะใช้อำนาจโดยไม่ไปกดขี่คนอื่น? พี่ก๋วยเล่าประสบการณ์ที่ไปเจอคู่สามีภรรยาคู่หนึ่ง ที่ทำให้สรุปได้ว่าเราไม่สามารถตัดสินจากมุมมองของเราเพียงอย่างเดียวได้ และในบางสถานการณ์ก็ยังจำเป็นต้องมีอำนาจเหนืออยู่

“ที่พี่เจอคือเป็นครอบครัว ผู้หญิงกลับบ้านไปเหนื่อยมากก็ต้องไปทำกับข้าว สามีก็กินเหล้า ผมไปนั่งอยู่ด้วยก็หัวปุดๆ แต่พอคุยกับผู้หญิง เขาก็มีความสุขดี ได้ดูแลสามี ได้สร้างความสัมพันธ์ที่ดี เขาก็มองในมุมของเขา เราอาจจะต้องช้าลงนิดหนึ่ง บางทีก็อย่าไปตราหน้าว่าคนนี้กดขี่ เขาสบายใจที่จะอยู่ในความสัมพันธ์แบบนั้นรึเปล่า ไม่เอาแว่นของเราไปมองในทุกสถานการณ์เสมอไป

และในบางสถานการณ์ก็ต้องการอำนาจเหนือ แต่ในบางสถานการณ์ก็อาจต้องการอำนาจร่วม แต่ว่าสิ่งสำคัญคือมันต้องมีทางเลือกให้มีแบบอื่นได้ด้วย ไม่ใช่อำนาจเหนืออย่างเดียวตลอดปีตลอดชาติ มีโอกาสที่จะทำงานร่วมกัน จากข้างล่างย้อนกลับไปข้างบนได้ด้วย ลงมาได้ด้วย แต่ hierarchy แบบนี้ก็ยังจำเป็นอยู่ ในบางสถานการณ์อาจจะต้องใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเพื่อความรวดเร็ว เพื่อให้งานดำเนินไปได้”

เมื่อเราค่อยๆ เพิ่มระดับการตระหนักรู้จากการตระหนักในตัวตนของตัวเอง เราไม่ได้เห็นเพียงแค่อำนาจที่แต่ละคนมีอยู่ในมือเท่านั้น แต่เรายังเห็นด้วยว่าบางแง่มุมของตัวเราก็ถูกประกอบสร้างขึ้นมาวาทกรรมที่แฝงอยู่ในชีวิต แทรกซึมเข้าสู่สำนึกอย่างแยบยล หากขาดการตระหนักรู้เราอาจกลายเป็นเครื่องมือของผู้กดขี่เพื่อสืบทอดวงจรอำนาจไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้ตัว



ถอดความจากกิจกรรม “การตื่นรู้ของผู้ถูกกดขี่”
ณ วัชรสิทธา

กิจกรรมครั้งต่อไปจะจัดขึ้นในวันที่ 15-16 มีนาคม 2565
สมัครได้ที่นี่