ขวากหนามของความกรุณา: อุปสรรค 4 ประการที่ทำให้ความกรุณาไม่ผลิบานสู่ทุกชีวิตอย่างเท่าเทียม

บทความโดย อัญชลี คุรุธัช

ที่มาภาพ: Silviu Cozma จาก Pexels

เมื่อความกรุณาที่เราปรารถนาจะมีให้กับผู้อื่นนั้นต้องอาศัยพลังภายใน ซึ่งหลายต่อหลายครั้งบนเส้นทางของการฝึกฝนความกรุณา เราต้องพบเจอสิ่งที่เข้ามาท้าทายเราให้รู้สึกว่าทำไม่ได้ ปณิธานก็ช่างยิ่งใหญ่ ในบทสวดเราตั้งจิตจะเปิดกว้างต่อความทุกข์ทั้งมวลในโลก ช่วยเหลือสรรพสัตว์ที่ทนทุกข์จนคนสุดท้าย จนหลายครั้งเราอาจสงสัยตัวเองว่าจะไปถึงครึ่งทางของตรงนั้นได้ไหม

ในฐานะเพื่อนร่วมเดินทางบนเส้นทางนี้จึงอยากแบ่งปันประสบการณ์บนเส้นทางที่ต้องฝ่าดงขวากหนามของความความกรุณา เพื่อเข้าไปสู่ความกรุณาที่แท้จริง

อุปสรรค 4 ประการของการบ่มเพาะความกรุณาในใจ

สำหรับผู้ที่มีความตั้งใจที่จะบ่มเพาะความกรุณาให้งอกงามอย่างไร้ขอบเขตสู่ทุกชีวิตอย่างเท่าเทียม หากลองหันกลับมามองและทบทวนจากประสบการณ์ภายในที่ผ่านมา จะพบว่ามีอุปสรรค 4 ประการที่ทำให้เราก้าวไปไม่ถึงตรงนั้นสักที

อุปสรรคประการที่หนึ่ง : การสร้างอุดมคติให้กับความทุกข์ (Idealization of Suffering)

การมองภาพว่าความทุกข์ที่น่าจะเข้าไปให้ความกรุณา จะต้องเป็นแบบนั้น แบบนี้

เราอาจเคยเปรียบเทียบ จัดลำดับ ให้คะแนนความยิ่งใหญ่ของความกรุณาจากผลลัพธ์ของการกระทำที่เกิดขึ้น หรือจำนวนของผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือ เช่น

• เรานั่งเป็นเพื่อนกับใครสักคนหนึ่ง รับฟังใครสักคนที่กำลังหดหู่ เศร้าหมอง 1 คน

• เราให้ข้าวกับหมาจรจัดที่หิวโหย 10 ตัว

• เรากำลังช่วยผู้ลี้ภัย 100 คน

แต่ในความเป็นจริง ความทุกข์ของแต่ละชีวิตที่เกิดขึ้นล้วนเป็นจริงสำหรับแต่ละชีวิต มันเป็นความทุกข์จริงๆ ที่แต่ละชีวิตกำลังประสบอยู่ในตอนนั้น…อย่างไม่อาจเปรียบเทียบกันได้ ไม่มีความทุกข์ของใครที่ยิ่งใหญ่กว่าของใคร และความทุกข์ไหนที่ควรเข้าไปช่วยมากกว่าอันไหน

มีคำกล่าวที่ว่า…

“หนทางของความกรุณาเป็นหนทางที่ปราศจากความเห็นแก่ตัว แต่ในขณะเดียวกันก็ปราศจากอุดมคติ”

บ่อยครั้งที่เรามักจะติดอยู่ในกับดักความคิดที่ว่า…“เราควรจะเลือกทำในสิ่งที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงได้ชัดเจนที่สุดก่อน” ทั้งที่จริงแล้ว เราเพียงแค่ทำสิ่งที่เราสามารถทำได้ทีละก้าว ทีละขั้น เท่าที่เราพร้อมและทำได้ ซึ่งการทำในสิ่งที่เราสามารถทำได้ นั่นคือความกรุณาที่เราสามารถช่วยเหลือ บรรเทาความทุกข์ของสรรพชีวิตที่อยู่ ณ ตรงนั้น เราไม่มีความจำเป็นที่จะต้องไปจัดลำดับว่าการกระทำไหนมีความกรุณาที่ยิ่งใหญ่กว่าอีกการกระทำ

ที่มาภาพ: Andres Ayrton จาก Pexels


อุปสรรคประการที่สอง : ความกรุณาที่เปี่ยมไปด้วยอัตตา

โดยในเรื่องนี้อาจจะแบ่งออกเป็น 2 ประเด็น คือ

ความกรุณาปัญญาอ่อน (Idiot Compassion)

เพม่า โชดรัน อธิบายสิ่งนี้ไว้ว่า มีการกระทำบางอย่างที่เราเรียกว่า “ความกรุณา” ในแบบที่ทำไปโดยที่ไม่ได้ตระหนักว่า “เป็นการช่วยอีกฝ่ายจริงๆ หรือเปล่า” แต่ทำไปเพียงเพราะว่า “เราไม่อยากเห็นความทุกข์”  

ตัวอย่างเช่น เมื่อเราทราบข่าวว่าเกิดเหตุภัยพิบัติ แล้วเรารีบคว้าอะไรก็ตามที่ตัวเองมี อาจจะเป็นเสื้อผ้าเก่าๆ รองเท้าเก่าๆ อาหารกระป๋องต่างๆ ยัดใส่กล่องส่งไปยังที่สถานที่ที่เกิดภัยพิบัติ  สิ่งนี้อาจนับว่าเป็นความกรุณาที่เบาปัญญาเพราะว่ามาจากการที่เราไม่ได้รับรู้ความทุกข์ที่เกิดจริงๆ เราไม่รู้ด้วยซ้ำว่าผู้ประสบภัยพิบัติต้องการอะไร เราส่งของไปก็เพียงเพื่อให้ตัวเองรู้สึกดี “ฉันได้ช่วยเหลือผู้ประสบภัย” ซึ่งสิ่งที่ส่งไปอาจไม่ใช่สิ่งที่ผู้ประสบภัยต้องการจริงๆ และอาจจะกลายเป็นภาระให้กับเจ้าหน้าที่ซึ่งต้องมาจัดการกับของบริจาคมากมาย (ขยะ?) ที่เราส่งไปอีกด้วย

 ความกรุณาที่ทำเพื่อให้ตัวเองรู้สึกดี

เมื่อทัศนวิสัยของเราถูกบดบังด้วยเมฆหมอกของอัตตา เรามองไม่ชัดว่าสิ่งที่เราคิดว่าเราทำเพื่อผู้อื่น ที่แท้เราทำเพื่อให้เรารู้สึกดีกับตัวเอง

Judy Lief หนึ่งในศิษย์ของเชอเกียม ตรุงปะ กล่าวไว้ว่า..

 “บ่อยแค่ไหนที่เราออกไปสู่โลกกว้าง ไปทำโน่นนี่ แล้วเราคิดว่าเรากำลังช่วยคนอื่นอยู่ แต่จริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องของเรา”

Judy Lief

ตัวอย่างเช่น เราอาจจะมาอยู่ดูแลแม่วัยชรา แต่สิ่งที่เราทำทุกอย่าง อยู่บนพื้นฐานที่เรามองว่าอย่างนี้ถูก อย่างนี้ดี แบบนี้คือหนทางที่ถูกต้องที่สุดในการดูแลคนชรา ทว่าการยึดติดความเป็นตัวตนของเรานั้นกลับสร้างความทุกข์ให้กับทั้งตัวเราเองและกับคนที่เราดูแลอย่างมหาศาล เพราะฉะนั้นความกรุณาที่ (เราคิดว่า) เรามีนั้น ที่จริงแล้วอาจถูกกำหนดโดยอัตตาของเราโดยไม่รู้ตัวก็เป็นได้

สิ่งที่เราเชื่อว่าเป็นการกระทำที่เปี่ยมกรุณานั้น กำลังช่วยบรรเทาความทุกข์ให้ผู้อื่นอยู่จริงๆ หรือเปล่า?

ที่มาภาพ: ArtHouse Studio จาก Pexels


อุปสรรคประการที่สาม : การขาดความกรุณาให้กับตัวเอง

ในสังคมตะวันตก การวิพากษ์วิจารณ์ถือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่สิ่งนี้ก็มีผลในระดับบุคคลด้วย เมื่อเรามีความคาดหวังต่อตัวเองและต่อคนรอบข้าง ทุกอย่างดูจะกลายเป็นเรื่องของความสำเร็จ-ล้มเหลว ความดี-ไม่ดี ความแข็งแรง-อ่อนแอ ความรวย-จน เมื่อมีความคาดหวังเหล่านี้เกิดขึ้น แล้วเราไม่สามารถไปถึงได้ เราก็วิพากษ์วิจารณ์ตัวเองอย่างหนัก เราอาจรู้สึกว่าเราไม่ดี เราต้องทำอีก! ต้องทำให้ดีกว่านี้อีก! ความกรุณาก็เช่นกัน เมื่อเรามีความคาดหวังว่านี่คือความกรุณาที่เราควรจะทำ แต่เราทำไม่ได้ เราก็วิพากษ์วิจารณ์ตัวเองว่าเรายังไม่ดีพอ

หรือในเวลาที่กำลังเผชิญความทุกข์ เชื่อว่าหลายๆ คนก็อาจเคยบอกกับตัวเอง หรือมีคนอื่นมาพูดกับเราประมาณว่า

“ไม่เป็นไรหรอก ยังมีคนอื่นที่เค้าแย่กว่าเรา”

“คนอื่นเค้าแย่กว่าเรา อย่ามัวไปหมกมุ่นกับปัญหาตรงนี้เลย”

จากนั้นเราก็กลบความทุกข์ของเราไว้แล้วหันหน้าไปทางอื่น ท่าทีเช่นนี้แสดงให้เห็นถึงการที่เราไม่มีความกรุณาให้กับตัวเองอย่างเพียงพอ  หากเรามีสัญญาณว่าเรากำลังเจ็บปวด เรากำลังเป็นทุกข์ เราน่าจะหันมาดูแลตัวเองเหมือนที่เราดูแลคนอื่น การบอกว่าคนอื่นแย่กว่าเรา อาจจะมีส่วนดีตรงที่เราได้เห็นความทุกข์ของผู้อื่นแล้วเปิดใจรับความทุกข์ของตัวเองได้ แต่ถ้านั่นทำให้เราไม่หันกลับมองตัวเอง ไม่ดูแลตัวเอง ก็นับว่าเป็นความเข้าใจที่ผิดอย่างยิ่ง

ตัวอย่างเรื่องราวขององคุลีมาล ผู้ฆ่าคนเพื่อตัดนิ้วมาร้อยเป็นมาลัยรอบคอ ที่กำลังจะฆ่าแม่ตัวเองเพื่อจะตัดนิ้วให้ครบ 1,000 นิ้ว แต่พระพุทธเจ้าก็ได้เข้ามาห้ามและได้เทศนาธรรม จนองคุลีมาลดวงตาเห็นธรรมและขอบวชเป็นภิกษุ นั่นคือเรื่องราวที่เราคงเคยได้ยินกันมาบ่อยแล้ว


ภาพวาดฝาผนังพระพุทธประวัติ ตอนทรงโปรดองคุลีมาล วัดพุทธศรีลังกา เมืองสาวัตถี ประเทศอินเดีย
ถ่ายโดย Tevaprapas

แต่มีประเด็นเรื่อง Self-Compassion ในตัวขององคุลีมาลที่น่าสนใจอย่างยิ่งว่า เมื่อองคุลีมาลดวงตาเห็นธรรมแล้ว เขาสามารถอยู่กับตัวเองได้อย่างไร? เมื่อต้องเผชิญหน้ากับความเลวร้ายที่ตัวเองกระทำลงไป เสียงกรีดร้องของผู้คนในตอนที่เขากำลังฆ่าและกลับมาหลอกหลอนเขาในความฝัน องคุลีมาลสามารถอยู่กับความรู้สึกตรงนั้นได้อย่างไร? หรือแม้ตอนที่เป็นภิกษุแล้วก็ยังถูกชาวบ้านใช้ก้อนหินขว้างปาขณะบิณฑบาต นี่คือ Self-Compassion อันทรงพลัง ที่องคุลีมาลสามารถมีให้กับตัวเอง

อันที่จริง ความกรุณาที่แท้ไม่มีการจำแนกว่านี่คือความกรุณาต่อตัวเอง หรือนี่คือความกรุณาต่อผู้อื่น เราปฏิบัติต่อตนเองเหมือนกับที่ปฏิบัติต่อผู้อื่น  ดังที่เพม่า โชดรัน ได้กล่าวไว้ว่า

“เมื่อเรามีความกรุณาให้กับตัวเองแล้ว ขอบข่ายของความกรุณาจะขยายได้กว้างขึ้นและสามารถโอบรับความทุกข์ของผู้อื่นได้มากขึ้น ความกรุณาเริ่มต้นจากตัวเราก่อน เริ่มต้นจากความรักที่เรามีให้กับตัวเอง”

เพม่า โชดรัน

อุปสรรคประการที่สี่ : ขาดการภาวนา

ติช นัท ฮันห์ กล่าวว่า..

“ความกรุณาเป็นคำกริยา”

ความกรุณาคือ กริยาหรือการกระทำ อันเกิดจากใจที่เปิดกว้าง และใจที่เปิดกว้างก็มาจากการที่เราสามารถจะนั่งนิ่งๆ อยู่กับตัวเอง ขยายพื้นที่รอบตัวเราได้

นอกจากนี้ Joanna Macy ซึ่งเป็น Activist ที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม ผู้สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คนมากมาย และ Tenzin Palmo ภิกษุณีชาวอังกฤษที่ปัจจุบันท่านได้ทำงานกับนักบวชหญิงที่ประเทศอินเดีย ทั้งสองท่านต่างก็กล่าวไว้เหมือนกันว่า

“ปัญญากับความกรุณาเป็นสิ่งที่มาคู่กัน สิ่งที่เหมือนกับ “Clear Blue Sky” ดั่งท้องฟ้าที่แจ่มใส ก็คือจิตที่เต็มไปด้วยปัญญาและความกรุณา เมื่อฟ้าใส จะมีความกว้าง ความสว่าง สดชื่น สดใส ท้องฟ้าแบบนั้น ใจแบบนั้นก็คือใจที่มีความกรุณาที่สามารถโอบอุ้มความทุกข์ของผู้อื่นได้ และยิ่งเราปฏิบัติภาวนามากเท่าไหร่ ฟ้าก็จะยิ่งกว้างและเปิดขึ้นเท่านั้น”

ที่มาภาพ : อวโลกิตะ


ข้อเสนอ 3 ประการต่อการเผชิญขวากหนามของความกรุณา

เมื่อมีอุปสรรคก็ย่อมมีหนทางในการเผชิญและออกจากอุปสรรคเหล่านั้น ต่อไปนี้คือข้อเสนอสามประการ เพื่อเป็นเครื่องมือในการฝ่าดงขวากหนามของความกรุณา สู่ความกรุณาที่แท้จริง

1. เปลี่ยนนิสัย (Change Habits)

มีสิ่งที่ได้เรียนรู้สมัยที่ไปฝึกปฏิบัติที่ San Francisco Zen Center อาจารย์ที่นั่นสอนว่า “ลองฝึกเปลี่ยน Pattern ของตัวเอง”

ลองเปลี่ยนสิ่งที่เราทำทุกวันเป็นนิสัย สิ่งที่ทำทุกวันโดยที่เราไม่ได้คิด สิ่งที่เราทำแบบอัตโนมัติ ลองเปลี่ยนรูปแบบการทำดู ฟังดูเหมือนง่ายๆ ไม่น่าจะมีอะไร แต่แบบฝึกหัดนี้เป็นสิ่งที่มีผลมาก เมื่อเรากำลังทำอะไรที่ต่างจาก Pattern เดิมๆของเรา นั่นจะทำให้เราอยู่กับปัจจุบันขณะ ทำให้เราต้องมีสติอยู่กับตรงนั้น ขณะเดียวกันก็ทำให้เราเห็นว่า ยังมีความเป็นไปได้อื่นๆ มากมายนอกจาก Pattern เดิมๆ ของเรา ทำให้เราสามารถที่จะมีใจกว้างยอมรับว่า เราสามารถทำในแบบอื่นๆ ก็ได้ สิ่งนี้จะช่วย shift อะไรบางอย่างในตัวเรา

ที่มาภาพ: Miriam Alonso จาก Pexels

ฉะนั้นก็เลยอยากเชื้อเชิญให้ลองฝึกเปลี่ยน Pattern กันดู อาจจะเริ่มจากสิ่งที่ง่ายที่สุดอย่างเช่น เมื่อตื่นขึ้นมา ตอนที่จะแปรงฟัน ก็ลองเปลี่ยนวิธีแปรงฟันดู ปกติเราอาจจะเริ่มจากฟันกรามด้านซ้าย ก็อาจจะลองเปลี่ยนไปแปรงที่จุดอื่นก่อน เริ่มจากสิ่งง่ายๆ จากนั้นก็ค่อยๆ ลองเปลี่ยน Pattern กิจกรรมอื่นๆ เรื่องอื่นๆ ในสถานการณ์อื่นๆ ดู  ด้วยการฝึกแบบนี้ เราอาจค้นพบว่ามีความเป็นไปได้ในแบบอื่นๆ อีกมายมาย นอกเหนือจากสิ่งที่เราทำจนคุ้นเคยจนเป็นนิสัย จนกลายเป็นสิ่งที่เราคิดเอาเองว่า “จริงแท้ที่สุด ถูกต้องที่สุด”

เราสามารถทำอีกแบบก็ได้ เราสามารถเป็นแบบอื่นๆ ก็ได้

2. ค่อยๆ เขยิบ (Baby Steps)

หมายความว่า ให้เราค่อยๆเขยิบเข้าไปในเขตแดนที่ “เรากลัว” หรือ “เราทำไม่ได้”

การฝึก “ค่อยๆ เขยิบ” จะสัมพันธ์กับประเด็นเรื่องความกรุณาที่เปี่ยมไปด้วยอัตตา และความกรุณาที่เป็นอุดมคติ เมื่อเราสังเกตเห็นอัตตา เราเห็นอุดมคติของความทุกข์ เราลองกลับมาทบทวนกับตัวเอง เราจะลองก้าวข้ามมันดูได้ไหม ค่อยๆ เขยิบ ทีละนิด..

ที่มาภาพ: Oscar Helgstrand จาก Pexels

• เราอาจจะมีความขัดแย้งอะไรบางอย่างอยู่กับใครบางคน เราต้องการจะช่วยเขาแต่เขามีทัศนคติอะไรบางอย่างที่เรารับไม่ได้ ตรงนี้ก็กลับมาประเด็นที่ว่า “เราช่วยเขาเพื่อให้ตัวเราเองรู้สึกดีอยู่หรือเปล่า?”  เราลองเขยิบนิดหนึ่ง ลองเข้าไปใกล้อีกนิดหนึ่ง ลองช่วยเขาต่อ เราอาจจะไม่สามารถทำใจให้ยอมรับในทัศนคติของเค้าที่ไม่เหมือนเรา แต่ว่าลองเขยิบเข้าไปอีกนิดหนึ่ง อยู่กับเขาให้นานขึ้นอีกหน่อยหนึ่ง

• เวลาที่ถูกชวนหรือขอร้องให้ทำอะไรบางอย่าง เราอาจจะตอบออกไปทันทีว่า  “ไม่ได้ เราทำไม่ได้ เราไม่รู้พอ เราไม่ดีพอ”

หากสังเกตดีๆ การถ่อมตัวเช่นนี้มากจนเกินไป จริงๆ แล้วก็เป็นอัตตาอย่างหนึ่ง แทนที่จะปฏิเสธ เราลองอยู่กับมัน อยู่กับคำเชิญนี้อีกนิดนึง แล้วก็ให้เวลากับมัน ใคร่ครวญว่าเราทำไม่ได้จริงหรือเปล่า เพราะอะไรเราถึงบอกว่าตัวเองทำไม่ได้ อย่างไรก็ดีเราก็ต้องรู้จักตัวเอง ถ้าเราทำไม่ได้จริงๆ ก็คือทำไม่ได้ แต่ถ้าเราคิดว่าเราน่าจะทำได้ ก็ลองดู

ถึงแม้ว่าอาจจะฟังดูแล้วรู้สึกว่าไม่ค่อยจะเกี่ยวกับความกรุณา แต่นี่แหละคือความกรุณาต่อตัวเอง

“เราจะใช้ชีวิตของเราต่อไปเรื่อยๆ โดยที่เรามองว่าตัวเองไม่ดีพอไปตลอดชีวิต?”

แทนที่เราจะสามารถออกไปทำอะไรได้อีกมากมาย เรากลับกลัว เรารู้สึกว่าทำไม่ดี เดี๋ยวคนอื่นจะผิดหวัง สิ่งเหล่านี้คือตัวอย่างของการขาดความกรุณาให้กับตัวเอง ให้กับผู้อื่น

“ค่อยๆ ทำไปทีละนิด ไม่ต้องถึงขนาดพลีชีพโดยทันที”

3. ฝึกปฏิบัติภาวนาให้มากขึ้น (Practice, Expanding Space)

เชอเกียม ตรุงปะ กล่าวว่า

“ความกรุณา คือความเมตตา ความรัก กับความใจกว้าง เอื้อเฟ้อเผื่อแผ่ ในคัมภีร์ได้กล่าวไว้ว่า ดั่งปลาที่ไม่สามารถจะอยู่โดยปราศจากน้ำได้ ความกรุณาก็ไม่สามารถจะพัฒนาขึ้นมาได้ หากยังมีอัตตาและยังไม่เคยมีประสบการณ์กับความว่าง (สุญญตา)”

ท่านทะไลลามะ ก็ได้อธิบายเรื่องนี้ต่อว่า..

“พื้นฐานของคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหมดอยู่ที่ความกรุณา และเหตุผลที่เราฝึกปฏิบัติคำสอนเหล่านี้ก็เพื่อที่จะกำจัดอัตตาที่ดื้อรั้น เราฝึกปฏิบัติที่จะกำจัดอัตตาเพราะอัตตาคือศัตรูหมายเลข 1 ของความกรุณา”

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการภาวนาที่เรากำลังฝึกฝนอยู่นี้ จะเป็นไปเพื่อช่วยลดทอนอัตตาลง เพื่อที่จะทำให้หัวใจของเปิดกว้างได้มากขึ้น และโอบรับความทุกข์ของผู้อื่นได้มากขึ้น

ที่มาภาพ : อวโลกิตะ

ขอให้ทุกท่านสามารถมีความกรุณาให้กับตัวเองเท่าๆ กับที่เรากรุณาผู้อื่น ขอให้เราร่วมกัน ช่วยกัน พัฒนาศักยภาพของเรา เพื่อให้โลกนี้ได้พบกันสันติสุข ขอให้ความโหดร้ายเบาบางลง

ขอให้เชื่อมั่นว่า ไม่ว่าจะเป็นสิ่งเล็กๆน้อยๆ หรือแม้แต่สิ่งใหญ่ๆที่เราทำ

ทุกอย่างคือความกรุณาที่แท้ หากว่ามันมาจากใจที่เปิดกว้างของเรา