ไมตรีภาวนา : หนทางเพื่อการโอบกอดความขัดแย้งในตัวเอง

บทความโดย อุทัยวรรณ ทองเย็น

ที่มาภาพ : Julia Larson จาก Pexels

โดยปกติของมนุษย์ทุกคนมีความขัดแย้งภายในเสมอ เราต้องทำงานกับเสียงภายในหัวที่มักถกเถียงหาข้อยุติเพื่อจะได้ตัดสินใจทำสิ่งที่เราคิดว่าเราเป็นเช่นนั้นเสมอ อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งภายในก็เป็นตัวสร้างปัญหาหลักของชีวิต เพราะเมื่อเราขัดแย้งภายในแล้ว เราก็มักจะขัดแย้งกับโลกทั้งหมดไปด้วย

จากคอร์ส Embracing the Internal Conflicts การโอบกอดความขัดแย้งภายในตนเพื่ออิสรภาพและการเติบโตทางจิตวิญญาณ โดย สมพล ชัยสิริโรจน์ และ ณัฐฬส วังวิญญู ที่วัชรสิทธา เมื่อวันที่ 2-4 กันยายน 2565 ได้อธิบายถึงความขัดแย้งภายในตัวเองว่าเป็นธรรมชาติ ความขัดแย้งนั้นเกิดจากเราจะสร้าง ตัวตนที่เรียกว่า “Persona” หรือหน้ากากมาปกป้อง เด็กน้อยภายใน “Inner Child” ซึ่งมีความเปราะบางอย่างมากไว้ และตัวตนที่เราสร้างขึ้นมาอย่างมากมายนั้นกลับมีความขัดแย้งกันเอง ที่สำคัญคือเรายังมีตัวตนที่อยู่ในจิตใต้สำนึกที่เราหลงลืม เราไม่รู้ตัวและไม่ยอมรับ และนี่คือที่มาของเสียงภายในหัวที่สร้างความขัดแย้งในใจ

Persona หรือหน้ากาก เป็นบทบาทที่เราสวมเพื่อใช้แสดงตัวกับโลกภายนอก สิ่งนี้ทำให้เรามีขอบ หรือ Edge ที่เราขีดเส้นจากภาพตัวตนที่เราสร้าง เราจะยึดติดในตัวตนนั้นและไม่กล้าข้ามขอบนี้ออกไป

ความขัดแย้งภายในจากตัวตนที่เราสร้างขึ้น มาจากตัวตน 2 ฝั่ง คือ Primary Self เป็นตัวตนที่เรายึดว่าใช่ ในขณะเดียวกัน เราก็มี Disown Self เป็นตัวตนของเราที่เราปฏิเสธ ทั้งสองฝั่งนี้คือขั้วตรงข้ามที่มักทำให้เรารู้สึกขัดแย้งอยู่ภายใน เราจึงมักได้ยิน “เสียงผี” คือเสียงที่ดังในหัวเป็นข้อขัดแย้งกับชุดความคิดที่เรายึด ดังนั้นในการทำงานกับข้อขัดแย้งนี้ต้องมี Mindset ว่า ทุกเสียงพยายามสื่อสารให้เราได้ยิน เราต้องฟังทุกเสียง ให้เสียงนั้นได้ถูกรับฟัง

ที่มาภาพ : Hitesh Choudhary จาก Pexels

Primary Self เกิดจากการเลี้ยงดู เพศ วัย การศึกษา วัฒนธรรม เชื้อชาติ

ส่วน Disown Self เป็นด้านที่ดิบ ตรงข้าม ตรงไปตรงมา และหยาบ เป็น Unknown เป็น Shadow เราจะคิดว่าเราไม่มี เราไม่เป็นเช่นนั้น”

Primary Self และ Disown Self จะขัดแย้งกันภายในใจเราตลอดเวลา ดังนั้นเนื้อแท้ของความขัดแย้งของเรานั้นมาจากความขัดแย้งระหว่างตัวตนต่างๆในตัวเรา ไม่ใช่เราขัดแย้งกับคนอื่น หากลองสังเกตดูเราอาจจะพบว่าเวลาที่เรารู้สึกไม่ชอบใครสักคนนั้น อาจเป็นเพราะเขามีคุณลักษณะบางอย่างที่เรามีและเราไม่ชอบ เราจึงไม่ชอบที่เขาเป็นเช่นนั้น

ความน่าสนใจคือ Primary Self จะเป็นตัวตนที่แคร์คนอื่น ในขณะที่ Disown Self เป็นตัวตนที่แคร์ตัวเอง  สิ่งนี้คือพัฒนาการของเราที่จะสร้างตัวตนที่สามารถอยู่กับคนอื่นๆได้แบบปลอดภัย เราพยายามสร้างเกราะที่ป้องกันตัวเองเพื่อการยอมรับจากโลกภายนอก แต่ว่าโลกภายในของเราต้องเก็บงำความต้องการที่แท้จริงไว้นั่นเอง…โลกภายในของเราหรือ Inner Child อันเป็นความเปราะบางที่เราพยายามปกป้อง

ที่มาภาพ : ฺBeytlik จาก Pexels

การเริ่มต้นทำงานกับความขัดแย้งภายในคือ เราต้องฝึก Awareness กับ Disown Self เราต้องขยายการรับรู้ถึงส่วนของตัวตนที่ถูกละเลย ตัวตนที่เราลืม เราต้องถอยตัวออกมาจากมุมที่เรายึดหรือคุ้นเคยและมองตัวเราในมุมที่ไม่เคยมอง มุมที่ตรงกันข้าม เปิดโอกาสให้ตัวตนด้านตรงข้ามนั้นได้แสดงออก ซึ่งนั่นอาจจะสร้างความขัดแย้งในใจเพราะมันสะกิดเราให้รู้สึกถึงสิ่งที่เราลืม สิ่งที่เป็น Unconscious และการที่เราสามารถที่จะดำรงอยู่ภายใต้ความกดดันของขั้วตรงข้ามของเราได้ ดำรงอยู่ในสภาวะขัดแย้งภายในได้ แม้ว่าเราจะกลัวและเปราะบางเพียงใด การที่เรากระโจนไปสู่สิ่งที่เป็น Unknown อย่างเต็มที่ เราต้องมีทั้งการตระหนักรู้และมีประสบการณ์ของการเป็นตัวตนด้านตรงข้ามอย่างแท้จริงที่ทำให้เราเข้าอกเข้าใจและรู้ว่า Disown Self นั้นรู้สึกอย่างไร ทำงานเพื่อตัวเราอย่างไร เพราะจริงๆแล้ว Disown Self หรือ Shadow นั้นไม่ใช่ไม่ดี เพียงแต่เรารู้จักน้อยไปจึงสร้างปัญหาให้เรา

อย่างไรก็ตาม กระบวนการนี้จะไม่ตรงไปตรงมาและมีขั้นตอนชัดเจน เพราะการทำงานตัวตนของเรานั้นอยู่ใน Unconscious ถึง 90%  การทำงานจึงต้องใช้การตระหนักถึงสิ่งที่ตรงข้ามกับสิ่งที่เรารู้ และมีข้อแนะนำที่น่าสนใจว่า ร่างกายของเราคือ Unconscious เรากลับมาตระหนักรู้ถึงโลกภายในของเราได้ผ่านร่างกาย ผ่าน Sensation

หนทางของการคลี่คลายความขัดแย้งภายในจะเกิดขึ้นเมื่อเราเผยทุกเสียงออกมาให้เราได้เห็น แสดงออกมาให้เราได้รับรู้อารมณ์ความรู้สึกเบื้องลึก ให้เราได้เข้าใจความต้องการที่แท้จริง เสียงได้ถูกรับฟัง ปัญหาได้ถูกมองเห็น ความทุกข์ได้แสดงตัว โดยเราไม่ได้มุ่งแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลง แต่ทว่าเราจะให้เสียงทั้งหมดมาหลอมรวมกันใหม่ ให้ทุกเสียงมีโอกาสได้เผยออกมาอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ต้องปกปิดด้านใดเอาไว้ และเราสามารถดึงออกมาแสดงตัวได้อย่างอิสระและตรงไปตรงมาไม่เจือด้วยเหตผลเบื้องหลังอีกต่อไป โดยอยู่บนพื้นฐานของความรักความปรารถนาดีต่อตัวเองต่อเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์  และเมื่อเราสามารถโอบกอดความขัดแย้งภายในตนเองได้ เราจะสามารถโอบกอดคนที่อยู่ตรงหน้าได้อย่างเต็มเปี่ยม

เราจึงต้องฝึกเพื่อความสามารถในการโอบรับทุกมิติของตัวตน ฝึกเพื่อสามารถมองเห็น Unknown และ True Self เห็นส่วนที่เปราะบาง Inner Child และยอมที่จะอยู่กับความเศร้า และภายใต้เศร้านั้นอาจค้นพบความรักที่มั่นคง

ไมตรีภาวนา หนทางเพื่อการโอบกอดความขัดแย้งในตัวเอง

บนเส้นทางของผู้ปฏิบัติภาวนา การทำงานของความขัดแย้งภายในนับเป็นวัตถุดิบชั้นดีของประสบการณ์การภาวนา เราไม่ได้ภาวนาเพื่อหวังให้ชีวิตเราดีขึ้น เราไม่ได้ภาวนาเพื่อได้สิ่งที่เราต้องการ แต่เราภาวนาเพื่อเป็นตัวเองที่แท้จริง เราภาวนาเพื่อเปิดตัวเอง ทำงานกับ Unknown และความขัดแย้งภายใน ซึ่งท่าทีและมุมมองของการภาวนาด้วยไมตรีจะช่วยให้เราเข้าถึงการยอมรับตัวตนได้ทุกมิติ

เมื่อหลายปีก่อน Kim Roberts อาจารย์พิเศษ Contemplative Psychology ที่มหาวิทยาลัยนาโรปะ สหรัฐอเมริกา เคยมาสอนภาวนาผ่าน Zoom ให้กับสังฆะวัชรปัญญา  ในการสอนภาวนาครั้งนั้น Kim ได้อธิบายเกี่ยวกับการฝึกไมตรีภาวนา โดยมีมุมมองพื้นฐานของการภาวนาว่า…

“ไม่ต้องทำอะไร  เราเริ่มจากการมีไมตรีต่อตัวเอง เราฝึกให้ space กับตัวเราที่เป็นโดยไม่ต้องแก้ไข  เรายอมรับตัวเองโดยไม่มีเงื่อนไข นี่เป็น Basic Ground ที่เป็นจุดเริ่มต้นของไมตรีภาวนา ซึ่งจะทำให้เราใส่ใจตัวเอง เราจะเปิดพื้นที่ให้กับ Basic Goodness ของตัวเอง  เราปล่อยทุกอย่างเกิดขึ้นโดยไม่มีการตัดสิน ไม่ขัดขวาง และไม่ต้องมีเรื่องราวอธิบาย  และจากประสบการณ์นี้ การภาวนาจึงเริ่มต้น”

– Kim Roberts

ในระหว่างการภาวนา Kim บอกให้เรามี Awareness กับความรู้สึกตัว ไม่ว่าร่างกายรู้สึกอย่างไร หรือ Sensation เป็นอย่างไร เราอยู่ได้กับทุกสภาวะ ไม่ว่าจะเห็นหรือคิด ก็ปล่อยให้มันเกิด มองเห็นและปล่อยมันไป แค่อยู่กับลมหายใจ แม้ว่าความคิดจะเกิดตลอดเวลา หรือไม่มีความคิดเลย ทั้ง 2 อย่างนี้มันใช้ได้ เรามองเห็นการดิ้นรน เห็นสิ่งที่ไม่อาจยอมรับได้ เราก็แค่มองเห็นและให้พื้นที่กับสิ่งนั้นโดยไม่ทำอะไร แค่อยู่โดยไม่มีความมุ่งหมายใดๆ นั่นคือไมตรี 

ในช่วงท้ายของการภาวนา Kim ให้เราลองจินตนาการดังนี้…

  • มีคนที่เรารักนั่งอยู่ตรงหน้าเรา – ให้เราลองให้ความรักแก่คนๆนั้น และสังเกตเห็นอะไร
  • จากนั้นเปลี่ยนเป็นคนที่เป็นกลางๆกับเรา – อาจเป็นคนที่เราเจอทุกวันแต่ไม่เคยคุยด้วย  เรารู้สึกอย่างไร
  • ต่อด้วยคนที่เราเกลียด – เราก็อาจรู้สึกต่อต้าน ถ้าเห็นเช่นนั้นก็ไม่เป็นไร มันใช้ได้ 

แล้ว Kim ชวนให้จินตนาการต่อว่าตอนนี้คนที่กำลังนั่งอยู่ข้างหน้าเราคือตัวเราเอง

  • เราที่ทำตัวดี – เราคงรู้สึกรักตัวเองง่ายกว่าเมื่อเราทำดี  
  • ต่อด้วยตัวเราที่เป็นกลางๆ – เรารู้สึกอย่างไร
  • และสุดท้ายคือจินตนาการถึงตัวเราในแบบที่เราไม่ชอบ – เราที่กำลังทำร้ายใครสักคน เราที่ไม่ทำตามสัญญา เราที่ไม่ดีพอ เรารู้สึกผิดหวังกับตัวเอง ให้ลองให้ความรักแก่ตัวเองที่ไม่ชอบและสังเกตว่าเห็นอะไร

สุดท้าย Kim ได้สรุปว่าระหว่างความรัก Love กับไมตรี Loving Kindness นั้นแตกต่างกันอย่างไร 

Love คือ ความรู้สึกรักที่เรามีให้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเท่านั้น เรารักสิ่งหนึ่งมากกว่าอีกสิ่งหนึ่ง มีจุดอ้างอิงของความรัก ดังนั้นในความหมายนี้ เราจึงรักตัวเองได้ยากเพราะเราไม่ได้เป็นอย่างที่เราต้องการทุกอย่าง เปรียบเหมือนเปลวเทียน คือความรู้สึกรักตัวเองจะวูบไหวแปรเปลี่ยนเหมือนเปลวเทียนที่ลุกโชนวูบวาบ

Loving Kindness ไมตรีต่อตนเอง แตกต่างจากความรักอย่างไร Kim เปรียบเทียบให้เห็นภาพว่าแม่พาลูกไปเล่นในสนามเด็กเล่น แม่ปล่อยให้ลูกได้เล่นอย่างอิสระ แม่ถอยออกมาและเฝ้าดูลูกเล่นโดยไม่ไปกำกับลูกว่าต้องทำอะไร ปล่อยให้เค้าได้เล่นไป

นั่นคือท่าทีของไมตรีต่อตัวเอง – ถอยออกจากตัวตนของเราและเพียงมองเห็นโดยไม่ตัดสิน ไม่ต้องดิ้นรนหรือหาทางแก้ไขอะไร

ที่มาภาพ : Oleksandr Pidvalnyi จาก Pexels

จากความหมายของความรักตัวเองกับไมตรีต่อตัวเอง จึงให้มุมมองต่อการที่เราจะมีปฏิสัมพันธ์กับตัวเองที่แตกต่างกัน เมื่อเรามีไมตรีกับตนเอง ท่าทีของเราคือการยินยอมให้ตัวเองเป็นโดยไม่ปฏิเสธไม่หลบซ่อนและไม่ตำหนิตัวเอง เราจะเปิดกว้างและมีพื้นที่ให้ทุกสิ่งเกิดขึ้นได้ ไม่ยึดติดอยู่กับทางเดินแคบๆ แต่มีอิสรภาพที่จะเลือกเป็นตัวตนที่จริงแท้ เราจะขัดแย้งกับตัวเองน้อยลง เราสามารถยอมรับและโอบกอดตัวเราได้สนิทใจ และเมื่อนั้น เราจะสัมพันธ์กับโลกภายนอกได้อย่างสนิทใจด้วยเช่นกัน

สิ่งนี้อาจจะเรียกว่าเป็นอิสรภาพและการเติบโตทางจิตวิญญาณได้เช่นกัน