ปูชา 2 : มนตร์ ก้าวสู่มณฑลแห่งพิธีกรรมและความศักดิ์สิทธิ์ กับ อ.ตุล คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

Thirteen different gods perform a yagna, a fire sacrifice, an old vedic ritual where offerings are made to the god of fire, Agni. Gouache painting by an Indian artist. Wellcome Collection (Public Domain)

“ถ้าเราสามารถสร้างสรรค์มนตร์หรือพิธีกรรมที่มีความหมาย ความหมายต่อตัวเรา อันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของการทำพิธี”

อ.ตุล คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ไม่ว่าเราจะสนใจพิธีกรรมหรือไม่ก็ตาม ต้องมีสักครั้งที่เราเคยถูกผู้ใหญ่บังคับให้เข้าร่วมพิธียืดยาว ฟังพระสวดภาษาที่ไม่เข้าใจ หรือมีภาพจำต่อพิธีกรรมไปในทางเร้นลับ น่าหวาดหวั่น ตามที่ละครมักนำเสนอ เรียกว่าภาพหมอผีขมุบขมิบปากท่องมนตร์ก่อนสาดข้าวสารเสกไล่ผีจะต้องจับจองพื้นที่เล็กๆ อยู่ในจิตใต้สำนึกของเรา พิธีที่ได้สืบทอดมาจนถึงปัจจุบันผ่านกาลเวลายาวนานจนความหมายดั้งเดิมของพิธีกรรมถูกชะล้างเหลือเพียงรูปแบบ ทำให้เราไม่มีโอกาสได้สัมพันธ์กับความศักดิ์สิทธิ์ด้วยอารมณ์ความรู้สึกและประสบการณ์ของตัวเอง จึงช่วยไม่ได้ที่คนยุคใหม่จะมองว่าพิธีกรรมเป็นเรื่องไร้สาระ

แต่ก็ใช่ว่าพิธีกรรมจะหมดไปจากการรับรู้ของผู้คน พวกเราจึงได้มารวมตัวกันในกิจกรรม “ปูชา 2: มนตร์” และนี่ก็เป็นครั้งแรกเลยที่วัชรสิทธาได้จัดกิจกรรมออนไลน์ เพื่อกลับไปเชื่อมโยงกับความศักดิ์สิทธิ์ สัมผัสกับมนต์เสน่ห์ที่ครั้งหนึ่งเลือนหายไป และค้นพบความหมายในพิธีกรรมอีกครั้งหนึ่ง อ.ตุล คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง วิทยากรประจำวัชรสิทธา จะพาเราย้อนไปถึงต้นกำเนิดของพิธีกรรม ก่อนค่อยๆ คลี่แผ่แนวคิดเบื้องหลังวิถีปฏิบัติรวมทั้งเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยต่างๆ ที่ท้ายที่สุดจะช่วยสร้างความเข้าใจและความมั่นใจในการสรรค์สร้างพิธีกรรมของเราเอง

การบูชาคืออะไร?

The Aztec Ritual Offering Against Drought, 1585 (Public Domain)

ชื่อกิจกรรมของเราคือปูชา (สะกดแบบสันสกฤต) ดังนั้นก็ต้องมาพูดถึงความหมายกันก่อน การบูชาคือการถวายความเคารพต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ด้วยเครื่องบูชา (offering) ต่างๆ ซึ่งแต่ละศาสนาก็มีธรรมเนียมในการปฏิบัติต่างกันออกไป ในอดีตบางครั้งเรียกพิธีบูชาเหล่านี้ว่า ‘ยัชญะ’ หรือคำที่เราคุ้นหูกว่าอย่าง ‘บูชายัญ’ แม้ว่าการบูชายัญจะมีภาพลักษณ์ที่ดูโหดร้ายจากการสังเวยชีวิตมนุษย์หรือสัตว์ แต่โดยหลักการแล้วก็คือการถวายบางสิ่งแด่ทวยเทพหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์

ที่มาของพิธีกรรม

ในยุคโบราณ มนุษย์มีความใกล้ชิดกับธรรมชาติอย่างมาก แล้วก็รู้สึกว่าตนสามารถสื่อสารกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในธรรมชาติได้ การสื่อสารหรือทำพิธีกรรมจึงเป็นสิ่งที่อยู่ในสัญชาตญาณ (intuition) ของมนุษย์ทุกคน ทำให้พิธีกรรมในช่วงแรกไม่ได้มีหลักการหรือแบบแผนใดเป็นพิเศษ เนื่องจากมนุษย์ยังคงใช้ชีวิตอิงอาศัยธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นการเพาะปลูก หรือการล่าสัตว์ การบูชาจึงออกมาในรูปของการบูชายัญที่จะเอาชีวิตของพืช สัตว์ หรือมนุษย์มาเป็นเครื่องสังเวยอย่างที่เรามักเห็นในอารยธรรมเก่าๆ ก่อนสังคมจะจัดระเบียบและพัฒนาให้เป็นแบบแผนขึ้น

การสื่อสาร

มนุษย์เริ่มทำพิธีกรรมเพราะต้องการที่จะสื่อสาร แต่เราไม่ได้สื่อสารกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์หรือสิ่งที่อยู่ภายนอกเพียงอย่างเดียว ยังมีการสื่อสารภายในกับตัวเองด้วย ดังนั้นการบูชาจึงแบ่งออกเป็น 3 ระดับตามมิติของการสื่อสาร

  1. สื่อสารกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ (divine being)

ในยุคต้น มนุษย์ไม่ได้มีความเข้าใจเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติมากนัก ด้วยวิถีชีวิตแบบสังคมกสิกรรมที่ต้องอาศัยฟ้าฝน ผู้คนจึงทำพิธีเพื่อผลผลิตทางการเกษตร เช่น พิธีแห่นางแมว สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ว่าอาจจะเป็นอะไรก็ได้ เนื่องจากเรามองว่าสิ่งนั้นไม่ได้อยู่ในมิติหรือโลกเดียวกับเรา จึงต้องสื่อสารด้วยภาษาที่ต่างไปจากปกติ และมีความไพเราะทางภาษา อย่างการสวดเป็นทำนอง หรือการร่ายในพิธีบวงสรวง และนี่ก็เป็นที่มาของมนตร์ที่เรามักจะได้ยินตามพิธีต่างๆ

  1. สื่อสารกับชุมชน

การทำพิธีกรรมสมัยก่อนไม่ได้เป็นเรื่องของปัจเจก หรือกลุ่มคนเล็กๆ แต่เป็นสิ่งที่คนทั้งชุมชนร่วมด้วยช่วยกัน ขณะที่ผู้ทำพิธีเป็นตัวแทนไปสื่อสารกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พร้อมกันนั้นก็สื่อสารกับคนในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการใช้แสง เสียง หรือองค์ประกอบต่างๆ ให้คนอื่นรู้สึกตามไปด้วย

  1. สื่อสารกับตัวเอง

เมื่อเวลาผ่านไป พิธีกรรมก็เริ่มพัฒนาจากการสื่อสารกับภายนอกมาสู่การสื่อสารระหว่างตัวเรากับตัวตนภายใน (inner self) จะเรียกว่าเนื้อแท้ สัจธรรม จิตวิญญาณ อาตมัน หรือพระเจ้าข้างในก็ได้ โดยจะใช้มนตร์หรือการภาวนาเป็นตัวช่วยให้เรารับรู้พลังงานภายในจากการใช้เสียงเข้าไปสร้างความสั่นสะเทือน

การพัฒนาแนวคิดจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นสิ่งที่อยู่ภายนอกเข้ามาค้นพบความศักดิ์สิทธิ์ภายในของทุกศาสนาทำให้เห็นว่าความศักดิ์สิทธิ์ทั้งภายนอกและภายในเป็นสิ่งเดียวกัน เพียงแต่อยู่คนละภาชนะ อ.ตุลเปรียบเทียบกับอากาศข้างนอกและข้างในขวดน้ำที่จะไหลมารวมเป็นอากาศเดียวกันเมื่อเปิดฝาขวด เมื่อพูดอย่างนี้แล้วก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีทวยเทพอยู่เลย เทพยังคงมีอยู่ และเราเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่บางครั้งก็หลงลืมไปเพราะดันมีสิ่งสมมติกั้นขวางไว้ ดังนั้นพุทธศาสนาจึงเน้นการพัฒนาภายในเพื่อให้เห็นสภาวะเดิมแท้ของจิตเรามากกว่าศาสนาอื่นๆ

การเปลี่ยนผ่านสภาวะ

นอกจากพิธีกรรมจะเป็นการสื่อสาร ยังแสดงถึงการเปลี่ยนผ่านสภาวะจากความไม่ศักดิ์สิทธิ์สู่ความศักดิ์สิทธิ์ จากเด็กเป็นผู้ใหญ่ เช่น วันบรรลุนิติภาวะในญี่ปุ่น หรือจากสภาวะหนึ่งไปสู่อีกสภาวะหนึ่ง  เช่น จากฆราวาสมาเป็นพระอย่างประเพณีบวชนาคในแถบเอเชียตะวันออกเชียงใต้ การเปลี่ยนผ่านนำมาสู่หลักการสำคัญเบื้องต้นอย่างหนึ่งในการทำพิธีต่างๆ ก็คือการชำระล้างให้บริสุทธิ์

การชำระล้างให้บริสุทธิ์ (purification)

การชำระให้บริสุทธิ์ถือเป็นหลักการขั้นแรกของการทำพิธีบูชา โดยจะชำระทั้งตัวเราและของใช้ในพิธี แล้วอะไรคือความบริสุทธิ์ล่ะ? ตามความเชื่อทางศาสนา ของบางอย่าง เช่น น้ำสะอาด และดอกไม้มีความบริสุทธิ์อยู่แล้ว ส่วนของที่ดูไม่บริสุทธิ์อย่างเนื้อสัตว์หรือสุราก็ทำให้บริสุทธิ์ได้ ไม่ว่าจะด้วยพิธีกรรม มนตร์ หรือด้วยสื่อต่างๆ เช่น น้ำมนต์ ไฟ ควันจากธูปหอม แสง เสียงระฆัง ฯลฯ โดยเฉพาะในพุทธฝ่ายวัชรยานที่มองว่าทุกสิ่งบริสุทธิ์ด้วยตัวมันเองก่อนที่จะถูกความคิดปรุงแต่ง อีกวิธีคือการใช้พลังของจิตใจหรือการภาวนาเพื่อเข้าถึงสภาวะเดิมแท้หรือความเป็นพุทธะในการชำระล้าง

การถวายเครื่องบูชา (offering)

สิ่งที่เราทำถัดจากการชำระล้างคือการถวายเครื่องบูชา ซึ่งอ.ตุล อธิบายง่ายๆ ว่าเหมือนเราเตรียมของขวัญให้กับเทพที่มาพบและมอบพรให้กับเรา หลักการของการถวายคือการปรนนิบัติผัสสะทั้ง 5 ด้วยธาตุทั้ง 5 โดยใช้เครื่องบูชาอันได้แก่ น้ำดื่ม น้ำล้างอาบ/น้ำล้างบาท ดอกไม้ ธูปหอม ประทีป เครื่องหอม อาหาร และเสียงดนตรีเป็นตัวแทนของธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม และที่ว่าง สำหรับการบูชาตามคติวัชรยานจะประกอบด้วยเครื่องบูชาเจ็ดประการ ซึ่งที่จริงก็มีความคล้ายคลึงกับฮินดู ได้แก่

น้ำดื่ม – น้ำน้ำอาบ – น้ำดอกไม้ – ดินธูปหอม – ลม
ประทีป – ไฟเครื่องหอม – ดินอาหาร – ดินเสียงดนตรี – ที่ว่าง

แต่ถึงอย่างนั้นเรื่องธาตุ 5 ก็เป็นสิ่งที่ถูกอธิบายมาหลังจากที่คนได้ปฏิบัติมานานแสนนานแล้ว

มานัสบูชา

ถือเป็นการบูชาชั้นสูงที่เราจะสร้างเครื่องบูชาด้วยจินตภาพ (visualization) มนตร์ ประกอบกับการทำมุทรา (ท่ามือ) แล้วถวายแด่องค์เทพ หรือใช้พีชะพยางค์ และท่องมนตร์แปรเปลี่ยนธาตุทั้ง 5 ในกายให้กลายเป็นเครื่องบูชาตามวิธีแบบฮินดู มานัสบูชาเป็นวิธีที่แพร่หลายในฮินดู และพุทธศาสนาฝ่ายมหายานและวัชรยานอย่างมาก เราสามารถใช้แทนการเตรียมหรือถวายเครื่องบูชาจริงๆ ได้

มุทรา

Scroll of Mudras, 11th–12th century, Japan (Public Domain)

คือท่ามือที่แบ่งเป็นประเภทต่างๆ เช่น มุทราถวาย (ที่เราได้ทำในกิจกรรม) มุทราขจัดปัดเป่า มุทราในพิธีกรรมอื่นๆ มุทราสำหรับการภาวนา และมุทราสำหรับการแสดงในนาฏยศาสตร์ สำหรับมุทราถวายก็มีความแตกต่างกันไปตามแต่สำนัก ดังนั้นก็ไม่ต้องแปลกใจไปหากค้นอินเทอร์เน็ตแล้วข้อมูลไม่ตรงกัน โดยอ.ตุลได้นำมุทราของสายสาเกียปะมาให้ลองฝึกกัน

มุทราเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการทำมานัสบูชาแบบมหายานและวัชรยาน หลังจากที่เราได้ชำระล้างกาย วาจา ใจไปแล้ว ก็มาถึงขั้นตอนการผสานกาย วาจา ใจอันบริสุทธิ์นี้ให้กลายเป็นเครื่องสักการะ เราทำมุทราถวายไปพร้อมๆ กับท่องมนตร์ และตั้งจินตภาพ ส่วนสำคัญที่สุดที่อ.ตุล เน้นย้ำก็คือการตั้งจินตภาพซึ่งเป็นสิ่งที่พุทธศาสนาส่งเสริมมาก เพราะจินตภาพเป็นส่วนหนึ่งที่เรา represent ตัวเอง น้องใหม่ที่เพิ่งฝึกได้ไม่ถึงชั่วโมงจึงไม่ต้องกังวลว่าจะทำมุทรากับท่องมนตร์ถูกไหม ขอเพียงจินตนาการให้ชัดเจนว่าเรากำลังถวายเครื่องบูชาทีละอย่างให้กับทวยเทพ แต่อย่าลืมสลายจินตภาพในตอนท้าย เพราะที่จริงตามหลักคิดพุทธศาสนา ทุกสิ่งก่อเกิดจากความว่าง หากเราเชื่อเป็นตุเป็นตะว่าของเหล่านั้นมีจริงทั้งที่ไม่มี แล้วยึดมั่นถือมั่นก็เป็นอันตรายได้

มนตร์

มนตร์เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญในพิธีกรรมต่างๆ มนตร์ถูกแปลว่าคำศักดิ์สิทธิ์ แต่ก็มีนักการศาสนาฮินดูที่ตีความว่า มนตร์ เกิดจากการผสมคำว่า ‘มน’ (ใจ) กับ ‘ตระ’ (ปกป้อง) เข้าด้วยกัน มนตร์หรือมันตระจึงแปลได้อีกอย่างว่า เครื่องปกป้องจิตใจไม่ให้ตกต่ำ

หากแบ่งประเภทมนตร์ตามภาษา จะแบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ มนตร์ในภาษาสันสกฤต และมนตร์ในภาษาอื่นๆ

  1. มนตร์ในภาษาสันสกฤตตามคติฮินดู แบ่งได้อีก 3 ประเภท แต่ละประเภทก็มีที่มา และวิธีการใช้งานที่ไม่เหมือนกัน
  2. มนตร์จากคัมภีร์พระเวท (ไวทิกมนตร์) มีการบังคับทำนอง เสียงสูงเสียงต่ำ เรียกว่า สวระ (แปลว่า เสียง) โดยในทัศนคติของพราหมณ์ การออกเสียงพระเวทผิดจะเป็นบาป ปกติจะถ่ายทอดให้คนในวรรณะพราหมณ์ กษัตริย์ และแพศย์เท่านั้น มนตร์แรกสุดก็คือประเภทนี้
  3. มนตร์จากคัมภีร์ปุราณะ (เปาราณิมนตร์) คัมภีร์ปุราณะเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ในยุคหลังที่พูดเรื่องเทวตำนาน มักเขียนเป็นร้อยกรอง หรือกวีนิพนธ์ จึงไม่มีการบังคับทำนองอย่างมนตร์ในคัมภีร์พระเวท นอกจากนี้ยังรวมไปถึงมนตร์ที่เหล่าอาจารย์แต่งขึ้นมาด้วย ส่วนมากพิธีในปัจจุบันก็จะใช้มนตร์ประเภทนี้ แม้ว่าเปาราณิมนตร์จะไม่ได้จำกัดวรรณะผู้เรียน ก็ไม่ได้แพร่หลายในชาวบ้านผู้ไม่รู้ภาษาสันสกฤตอยู่ดี
  4. มนตร์ตันตระ (ตันตริกมนตร์) มีเอกลักษณ์สำคัญคือการใช้พีชะพยางค์ที่เน้นพลังงาน มนตร์ประเภทนี้มาจากวัฒนธรรมชาวบ้าน ถ่ายทอดกันระหว่างครู-ศิษย์เท่านั้น เพราะเชื่อว่าพลังศักดิ์สิทธิ์ของเสียงอาจทำให้เกิดผลดีหรือร้ายก็ได้ มีความเร้นลับและซับซ้อนมากที่สุด
  • มนตร์ในภาษาอื่นๆ ซึ่งแต่งขึ้นตามภาษาท้องถิ่นของผู้ใช้ส่วนมากเป็นภาษาชาวบ้าน

ส่วนมนตร์ในพุทธศาสนาสามารถจำแนกได้เป็น 2 รูปแบบใหญ่ๆ ได้แก่

  1. มนตร์สรรเสริญพระรัตนตรัย ครูบาอาจารย์ หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มักแต่งในรูปของฉันท์หรือบทกวี หรือนำมาจากพระสูตร
  2. ธารณีมนตร์ คือ พีชะมนตร์แบบพุทธศาสนา มีใช้ในสายมหายานและวัชรยาน

การทำงานของมนตร์มีอยู่ 3 รูปแบบ คือ การสวดออกเสียงดังๆ การสวดงึมงำพอให้ตนเองได้ยิน และการสวดในใจ (มักใช้ร่วมกับการตรึกภาพตัวอักษร) บ่อยครั้งเราไม่ได้เป็นผู้ท่องมนตร์เองขณะร่วมพิธีกรรม แต่มนตร์จะมีผลเยอะที่สุดเมื่อเราเป็นผู้ท่อง ในทิเบตและภูฏานมีผู้ปฏิบัติประเภทหนึ่งที่จะไม่ทำอะไรเลยนอกจากท่องมนตร์บทคุรุรินโปเช (โอม อา หุม วัชร คุรุ เปมา สิทธิ หุม) อยู่ตลอดเวลา  คนเหล่านี้เมื่อบรรลุแล้วมักถูกเรียกว่า วัชรคุรุ ตามความเชื่อพุทธศาสนาวัชรยานเมื่อเราทำงานกับมนตร์ไปนานๆ ที่สุดแล้วคุณสมบัติของเทพหรือพุทธะองค์นั้นก็จะกลายเป็นคุณสมบัติของตัวเรา เช่นเดียวกับวัชรคุรุที่วันหนึ่งก็บรรลุสิทธิอำนาจ สามารถสื่อสารกับคุรุรินโปเชได้

พีชะพยางค์ (seed syllable)

Tibetan Buddhism bijas Collection

มนตร์ตันตระมีจุดเด่นคือการใช้พีชะมนตร์ พีชะพยางค์คือเมล็ดพันธุ์ (seed) ของจิตที่ก่อเกิดความศักดิ์สิทธิ์ในจักระต่างๆ เป็นตัวอักษรศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายที่เราไม่แปล เช่น ฮัม(หํ) ฮุม(หุมฺ) สวาหะ(สฺวาหะ) หลายท่านที่เคยเข้าร่วมการภาวนากับวัชรสิทธาอาจจะเคยได้ยินคำเหล่านี้กันมาบ้าง และพอจะจินตนาการออกว่าเสียงได้เข้าไปสั่นสะเทือนภายในเราอย่างไร พีชะมนตร์จึงเน้นการทำงานกับพลังงาน หากเราใช้แบบฮินดูก็มักไม่ต้องตั้งจินตภาพ ต่างจากสายพุทธที่จะต้องตั้งจินตภาพร่วมด้วย

Q: ถ้าเราออกเสียงไม่เป๊ะจะส่งผลต่อความศักดิ์สิทธิ์ไหม?

A: สำหรับมนตร์ทั่วไปจะไม่เคร่งเรื่องนี้ แต่กับตันตริกมนตร์ที่เน้นเรื่องพลังงานของเสียง การออกเสียงผิดทำให้ความหมายเปลี่ยนซึ่งจะส่งผลต่อพลังงานหรือคลื่นความถี่เอาได้ ถึงอย่างนั้นเจตจำนงก็ยังสำคัญเหนือองค์ประกอบอื่นๆ แต่หากทำให้ถูกได้ก็เป็นเรื่องที่ดี

อ.ตุลเล่านิทานเกี่ยวกับฤาษีวาลมีกิ ผู้ประพันธ์รามยณะ ชาติหนึ่งวาลมีกิเกิดเป็นโจรชื่อรัตนากรและไปปล้นฤาษีเข้า แม้ว่าการปล้นในครั้งนั้นจะทำให้รัตนากรฉุกคิดและหันไปบำเพ็ญตน ชาติถัดมาเขาก็ยังไปเกิดเป็นโจรและเจอกับฤาษีกลุ่มเดิมอีก ฤาษีจึงให้เขาท่องนามของพระราม แต่เขาออกเสียง รามะ ไม่ได้ ฤาษีเลยให้ออกเสียงแบบสลับกันและทำไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่งเขาก็บรรลุ

“จากนิทานนี้ คนอินเดียจึงบอกว่ามีศรัทธาเถอะ ท่องผิดไม่เป็นไรหรอก เพราะฉะนั้นถึงออกเสียงผิดบ้างก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเรารู้แล้วฝึกฝนให้ถูกต้องที่สุดก็ดี เพราะว่ามันมีเรื่องความถี่ของเสียง” – อ.ตุล คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

Q: มนตร์ศักดิ์สิทธิ์ในตัวมันเองไหม

A: ตามคติฮินดูมนตร์เป็นคลื่นในธรรมชาติที่มีความศักดิ์สิทธิ์ในตัวเอง ส่วนเราเป็นผู้นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์

Q: การใช้มนตร์กับยันต์เกี่ยวข้องกันยังไง?

A: “มันมีประโยค ‘ตันตระ มันตระ ยันตระ’ แปลว่าตันตระเป็นวิถีแห่งมนตร์และยันต์” อ.ตุล อธิบายว่ามนตร์เป็นกุญแจไขเข้าไปสู่จักรวาลของเทพเจ้าหรือพุทธะซึ่งถูกจำลองเป็นภาพเรขาคณิตในรูปแบบของยันต์และมันดาลา (mandala) ดังนั้นมนตร์กับยันต์เป็นสิ่งที่ใช้ควบคู่กัน

ภาษาสันสกฤต

มนตร์จำนวนไม่น้อยที่เป็นภาษาสันสกฤต หากจะไม่กล่าวถึงที่มาเลยก็กระไรอยู่ มากไปกว่านั้นสาเหตุที่คนทั้งโลกมีโอกาสได้เข้าถึงภาษานี้ทั้งที่จะถ่ายทอดกันผ่านครู-ศิษย์เท่านั้นก็น่าสนใจไม่น้อย

“ครูผมสอนว่า เมื่อคุณได้เรียนสันสกฤต คุณกำลังได้พบกับขุมทรัพย์อันมหาศาลในภาษาของโลกนี้ ไม่มีภาษาไหนในโลกนี้จะไพเราะงดงามไปกว่าสันสกฤตแล้ว”

อ.ตุล คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ภาษาที่ถูกใช้ในอินเดียจะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ ภาษาสันสกฤต และภาษาปรากฤติ

สันสกฤต แปลว่า วัฒนธรรม (culture) ความเป็นวัฒนธรรมก็คือมนุษย์เป็นผู้สร้างขึ้นมา มีระเบียบแบบแผนที่สร้างความไพเราะของเสียง แยกย่อยได้อีก 2 ประเภท คือ คลาสสิก หรือตันติสันสกฤต (Classical Sanskrit/ Tantric Sanskrit) กับสันสกฤตพระเวท หรือไวทิกสันสกฤต (Vedic Sanskrit)

ส่วนปรากฤติ แปลว่า ธรรมชาติ (nature) ดังนั้นจึงเป็นภาษาที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อยๆ ตามธรรมชาติ อย่างภาษาพื้นเมืองทั้งหลาย ภาษาบาลีก็เป็นหนึ่งในนั้น หากจะเปรียบก็คงเทียบได้กับภาษาปาก ภาษาวัยรุ่นของไทยที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย

ตามประวัติศาสตร์ ภาษาสันสฤตเป็นภาษาตระกูลอินโดยูโรเปียนที่มีร่วมกันในวัฒนธรรมโลกโบราณ มีเอกลักษณ์คือมีการผันหน่วยคำ ใครที่เคยเรียนภาษาฝรั่งเศสหรือภาษาเยอรมันคงจะเข้าใจความลำบากในการผันเพศ ผันกิริยาต่างๆ ภาษาสันสกฤตจึงเรียนยากติดอันดับต้นๆ ของโลก โดยภาษากรีกและละตินจัดเป็นภาษาที่ใกล้เคียงภาษาสันสกฤตที่สุด ข่าวดีสำหรับคนไทยที่อยากจะเรียนคือเรามีพยัญชนะไทยและสระตรงกับภาษาสันสกฤตที่ช่วยเราเรื่องการออกเสียงได้

แล้วความพิเศษนอกเหนือไปจากความยากในการผันคำคืออะไร? ในทฤษฎีโยคะของภาษาสันสกฤตบางส่วนกล่าวว่าพระเจ้าคือเสียง ภาษาสันสกฤตจึงเป็นเสียงที่สะท้อนพระเจ้า ตามตำนานเล่าว่าเป็นภาษาที่ใช้ในสวรรค์ ฉะนั้นจึงมีความไพเราะและมีทำนองสูงต่ำต่างจากภาษาที่เราใช้พูดกันเป็นปกติ และพระสุรัสวดีก็เป็นผู้สร้างตัวหนังสือภาษานี้ขึ้นมาเรียกว่า อักษร ‘เทวะนาครี’ (ตัวหนังสือของชาวสวรรค์) เพราะฉะนั้นทุกตัวอักษรจึงศักดิ์สิทธิ์ ตัวอักษรเป็นหน่วยย่อยที่สุดของความศักดิ์สิทธิ์ในมนตร์ และเสียงท่องมนตร์ก็สะท้อนพระเจ้า พุทธศาสนาในอินเดียเองก็นับถือตัวอักษรไม่ต่างกัน เพราะเมื่อไม่มีอักษรก็จะไม่มีการก่อกำเนิดคำ เมื่อไม่มีการก่อกำเนิดคำก็จะไม่มีการก่อกำเนิดมนตร์

นอกจากนี้ภาษาสันสกฤตยังเป็นภาษาแรกของโลกที่สังเกตว่าเสียงของภาษาออกมาจากฐานไหน (คอ เพดาน ปุ่มเหงือก ฟัน ริมฝีปาก) ทำให้บนโลกนี้มีวิชาสัทศาสตร์ (Phonetics) ให้คนยุคหลังได้ใช้ประโยชน์เมื่อต้องเรียนออกเสียงภาษาต่างประเทศ แต่ผู้พัฒนาวิชานี้ขึ้นมาไม่ได้เป็นเจ้าของภาษาแต่อย่างใด ชาวต่างชาติที่เข้าไปตั้งรกรากในอินเดียยุคอาณานิคมเป็นผู้เขียนตำราให้คนนอกวรรณะอย่างเราๆ ได้สดับฟังและทำความรู้จักความไพเราะของภาษานี้ อ.ทัศนีย์ (อาจารย์สอนภาษาสันสกฤตของอ.ตุล) เล่าว่าที่ฝรั่งได้เรียนทั้งที่เป็นคนนอกก็เพราะอำนาจเงินนี่แล

อุปสรรคของผู้ทำพิธี

หลังจากที่เราได้ทำความเข้าใจกับกระบวนการทั้งหมดของการบูชา รวมทั้งทดลองทำพิธีชำระล้างไปแล้ว และตื่นเต้นที่จะรังสรรค์พิธีกรรมตามวิถีทางของตัวเอง หลายๆ ครั้งเรามีความคาดหวัง จินตนาการ หรือสมมติฐาน (presupposition) ว่าเทพจะต้องหน้าตาแบบนี้ พิธีครั้งนี้จะต้องเหมือนครั้งที่แล้วแน่นอน ทำให้เราพลาดการสัมพันธ์กับประสบการณ์ตรง และมิติด้านอารมณ์ความรู้สึกไปอย่างน่าเสียดาย เทพอาจหน้าตาต่างไปจากภาพวาดที่เรามักเห็น พิธีกรรมอาจไม่ดำเนินไปตามทิศทางที่ตั้งใจไว้ ความเปิดกว้าง และการเปิดรับสถานการณ์เฉพาะหน้าจึงมีความสำคัญมากเมื่อเราจะสื่อสาร ไม่ว่ากับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ชุมชน หรือตัวเราเอง

ความศักดิ์สิทธิ์

aarti ritual near ganga rhishikesh, India โดย Travayegeur (Sahil) จาก Wikimedia Commons (CC2.0)

พิธีกรรมคือการเปลี่ยนผ่านสภาวะจากความไม่ศักดิ์สิทธิ์ของมนุษย์ขี้เหม็นให้กลายเป็นศักดิ์สิทธิ์ ในแนวคิดของตันตระเชื่อว่าทุกสิ่งสมบูรณ์ดีอยู่แล้ว เรามีภาวะของเทพ (ตามคติฮินดู) หรือพุทธะ (ตามคติพุทธ) ภายในตัว แต่ความคิดแบ่งแยกทำให้เราเข้าใจผิดไป ดังนั้นเราสามารถก้าวเข้าสู่มณฑลของพิธีกรรมได้ด้วยการเปลี่ยนมโนสำนึกที่มีต่อตัวเราเองและเชื่อมโยงกับสภาวะเดิมแท้ของจิต

อ.ตุล อธิบายว่าความรู้สึกผิดบาป การโทษตัวเองจะไปขัดขวางความก้าวหน้าทางจิตวิญญาณ เราไม่สามารถก้าวไปสู่ความศักดิ์สิทธิ์ได้หากเอาแต่กล่าวโทษตัวเอง หรือรู้สึกว่าตนดีไม่พอ ดังนั้นในทุกศาสนาจึงมีพิธีชำระล้าง และมิตินี้ก็ถูกพูดถึงอย่างมากในพุทธศาสนามหายาน เรียกว่า ‘การขมากรรม’ เพราะมันไม่ได้เพียงยกระดับจิตวิญญาณเท่านั้น แต่ยังเป็นการเชื่อมโยงตัวเองกับสรรพสัตว์ด้วย

ในฮินดูตันตระและพุทธตันตระ (วัชรยาน) ก็มีประเพณีหนึ่งเรียกว่า ‘การอภิเษก’ (initiation) ซึ่งเป็นเป็นชั่วขณะแห่งการเปิดใจของคุรุให้ศิษย์ได้รับประสบการณ์ตรงของความศักดิ์สิทธิ์ เป็นการ empower และอนุญาตให้ศิษย์ปฏิบัติธรรมโดยมีครูเป็นผู้ดูแลไม่ให้ศิษย์หลงทางหรือหลอกตัวเอง เพราะตามการปฏิบัติในสายตันตระมีโอกาสสูงมากที่ผู้ปฏิบัติจะเข้าใจผิดว่าตนบรรลุแล้ว ทำดีแล้ว

การเปลี่ยนมโนสำนึกด้วยพลังของจิตใจเพียงอย่างเดียวอาจจะยังไม่เป็นรูปธรรมมากพอให้เห็นว่าเราเปลี่ยนผ่านไปสู่อีกสภาวะแล้ว การใช้อุปกรณ์เสริมจึงเป็นอีกตัวช่วยให้เราเข้าถึงความศักดิ์สิทธิ์ในตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องแต่งกายเฉพาะ เครื่องประดับ อย่างพราหมณ์ที่นิยมใส่แหวน หรือลูกประคำ พี่อุ๊ (กฤตยา ศรีสรรพกิจ) วิทยากรจากกิจกรรม Healing Power of the Angels ที่ในครั้งนี้มาร่วมเรียนด้วยเล่าให้ฟังว่าเธอจะสวมสร้อยคอที่ได้รับมอบจากอาจารย์เวลาต้องเป็นนำกระบวนการ Transformation Game แต่พอเอามาใส่ในชีวิตประจำด้วยกลับรู้สึกว่าสร้อยสูญเสียพลังอำนาจไป ไม่ขลังเท่าเดิม สุดท้ายเลยต้องใช้ในกระบวนการเท่านั้น

สำหรับใครที่ยังไม่มีอุปกรณ์เลย อ.ตุล แนะนำระฆัง หรือเครื่องโลหะที่มีเสียงกังวาน ช่วยให้เกิดภาวะดิ่งในห้วงสมาธิ หรือเป็นสัญญาณให้เรากลับมาสู่เนื้อตัวของเราเอง ในทฤษฎีของฮินดูเสียงเครื่องโลหะทั้งหลายเป็นการเลียนเสียงของจักรวาลที่ปกติเราจะไม่ได้ยิน (อนาหตะ) เช่น เสียงขึ้น-ลงของดวงอาทิตย์ เสียงดาวโคจร ว่ากันว่ามีแต่ผู้บำเพ็ญเพียรที่จะได้สดับเสียงของจักรวาล

อีกอุปกรณ์ยอดฮิตคือลูกประคำที่เป็นไอเทมประจำกายหลวงจีนในหนังจีนกำลังภายใน ลูกประคำโดยมากมี 108 เม็ด ตามคติมหายานเปรียบว่ามนุษย์มี 108 กิเลส เมื่อท่องมนตร์นับลูกประคำทีละเม็ดก็เหมือนได้ชำระล้างกิเลสทั้ง 108 ประการ ประโยชน์ของลูกประคำก็คือเป็นตัวนับจำนวนครั้งที่ท่องมนตร์ไปแล้ว วัสดุแต่ละอย่างที่ใช้ทำจะให้ผลในเชิงพลังงานแตกต่างกันไป ในฝ่ายพุทธนิยมใช้ลูกประคำจากไม้และหินเป็นหลัก

ในเมื่อเรามีความศักดิ์สิทธิ์ในตัวเอง เราก็มีพลังอำนาจที่จะปลุกเสก หรือส่งต่อความศักดิ์สิทธิ์ภายในไปสู่วัตถุอื่นๆ เช่น พิธีพุทธาภิเษก (การปลุกเสกพระเครื่อง) อ.ตุลเลยให้เราลองปลุกเสกสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามขั้นตอนที่อ.ตุลคิดขึ้น เป็นการซ้อมมือก่อนที่เราจะได้คิดพิธีกรรมของตัวเอง สิ่งของจะเป็นพระพุทธรูป หรือของที่มีคุณค่าทางใจกับเราก็ได้ เริ่มต้นด้วยการเชื่อมต่อกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์เบื้องบน อาจเป็นเทพ หรือครูที่เราให้ความเคารพ เรานำพาความศักดิ์สิทธิ์มาสู่ใจ แล้วส่งไปชำระน้ำให้บริสุทธิ์พร้อมๆ กับท่องมนตร์ หลังจากนั้นเราก็ดีดน้ำเพื่อชำระล้างสิ่งที่เราเตรียมมา

การชำระล้างเป็นขั้นตอนแรกของทุกพิธี ก่อนที่จะเริ่มปลุกเสกโดยการเชื่อมต่อกับความศักดิ์สิทธิ์เบื้องสูงและภายในตัวเรา ส่งพลังไปยังสิ่งที่ต้องการปลุกเสก มอบเจตจำนงว่าจะให้ของสิ่งนี้มีคุณสมบัติอะไร บางคนอาจปลุกเสกตุ๊กตาเรียกทรัพย์ อีกคนอาจต้องการของที่ช่วยสงบใจ เราได้สำรวจแสงสว่างและความปรารถนาของตัวเอง สนทนากับเทพและสิ่งศักดิ์สิทธิ์เบื้องหน้าตลอดพิธีกรรมที่ไม่อิงตามสำนักไหน แต่มีความหมายและสั่นสะเทือนความรู้สึกของผู้ทำพิธี

“อีกสิ่งหนึ่งที่เราอาจจะต้องทราบ ว่าจริงๆ แล้วพิธีกรรมในศาสนาส่วนหนึ่งมันเป็น performance(การแสดง) ถ้าเราทำคนเดียว เราสามารถตัดสิ่งที่เป็น performance ออกไปได้ ลองนึกภาพเราจะทำให้อะไรบางอย่างให้ศักดิ์สิทธิ์ แล้วให้คนอื่นรู้สึกว่าศักดิ์สิทธิ์ตามไปด้วย ในแง่หนึ่งมันจะต้องมีการ set up สิ่งแวดล้อม มันต้องมีความ dramatic บางอย่าง แต่ในขณะเดียวกันพอมันผ่านกาลเวลายาวนาน มันกลายเป็นแบบนั้นไปหมดเลย คือเราไม่รู้ว่าตกลงอะไรคือศักดิ์สิทธิ์ มันศักดิ์สิทธิ์เพราะเขาพยายามบอกเราว่ามันศักดิ์สิทธิ์ หรือเรารู้สึกว่ามันศักดิ์สิทธิ์ เพราะฉะนั้นที่เราทำมาทั้งหมดนี่คือการกลับมาที่พื้นฐานว่าความศักดิ์สิทธิ์ไม่ต้อง set up ให้คนอื่นดู แต่เป็นความศักดิ์สิทธิ์ที่ออกมาจากตัวเราจริงๆ”

อ.ตุล คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

การสาปแช่ง

Ushi no koku mairi

แม้ว่ากิจกรรมนี้จะไม่ได้สอนมนตร์สายดำ แต่คนไทยที่เติบโตมากับละครชิงรักหักสวาททำคุณไสย หรือหนังโรงอย่าง ‘เล่นของ’ ก็ช่วยไม่ได้ที่ลึกๆ จะหวาดกลัวว่าจะมีคนมาเล่นงานด้วยวิธีสกปรก จริงๆ แล้วการสาปแช่งนั้นใช้หลักการเดียวกับการบูชา พลังงานโดยตัวมันเองไม่ได้ให้คุณหรือโทษ อยู่ที่ว่าคนจะหยิบเอาพลังนั้นไปใช้ทำอะไร การสาปแช่งกับการบูชาจะใช้หลักการเดียวกัน แต่การตั้งเจตจำนงอันเป็นส่วนสำคัญของพิธีกรรมใดๆ ก็ตามกลับต่างกันโดยสิ้นเชิง

“อ.เขมานันทะบอกว่าจริงๆ แล้วคำสาปแช่ง คำอวยพร อะไรพวกนี้มันคือภาษา เมื่อใดก็ตามที่เราเข้าใจภาษาก็จะเกิดผล พิธีกรรมเป็นภาษาทางจิตใจ ถ้าคุณอยู่ในระบบความเชื่อนี้ วัฒนธรรมนี้ มันจะส่งผลกับคุณเพราะคุณเข้าใจมันไม่ใช่ในระดับเหตุผล ความเข้าใจอยู่ในระดับจิตใต้สำนึก ตราบใดที่อยู่ในภาษานั้น ก็จะได้รับผล”

อ.ตุล คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

แล้วเราจะป้องกันตัวเองยังไงได้บ้าง? ถ้าตามสูตรละครไทย เราคงเข้าวัดให้พระช่วยสาดน้ำมนตร์ใส่สักทีเพื่อไล่ของ อ.ตุล เสริมว่านี่เป็นการต่อสู้กันเชิงอำนาจของความศักดิ์สิทธิ์ระหว่างผี พราหมณ์ และพุทธในสังคมไทย ความอหังการของผีต้องเอาชนะด้วยอิทธิฤทธิ์ของพราหมณ์ แต่ท้ายที่สุดทั้งผีและพราหมณ์ก็ต้องพ่ายให้กับความศักดิ์สิทธิ์แบบพุทธ แต่กระนั้นนี่ก็เป็นเรื่องของอำนาจและการจัดลำดับความสำคัญ ที่จริงความศักดิ์สิทธิ์ของพุทธก็คือความกรุณา และความเมตตา เป็นความศักดิ์สิทธิ์อีกแบบที่น่าจะต่อสู้กับความศักดิ์สิทธิ์ของการสาปแช่ง อำนาจมืดหรือเจตจำนงที่ชั่วร้ายได้ (แม้ว่าที่ปรากฏในสื่อหรือในสังคมจริงๆ มักจะเป็นความศักดิ์สิทธิ์แบบเดียวกับผีและพราหมณ์ก็เถอะ)

สำหรับคนรุ่นใหม่ที่ห่างหายจากความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ไปทุกทีอาจรู้สึกมืดแปดด้าน ยังไงก็ตามเราสามารถเปลี่ยนมุมมองหรือปฏิกิริยาที่มีต่อเหตุการณ์เหล่านี้ได้ เช่นเดียวกับที่เราสามารถชำระล้างเนื้อสัตว์หรือสุราให้เป็นของสะอาดได้ตามคติของวัชรยาน เพราะที่สุดแล้วสิ่งทั้งหลายก็ไม่ได้ดีหรือเลว มีแต่เรานี่เองที่คอยตัดสินมัน แต่เรื่องนี้ก็ต้องพิจารณาอย่างเคร่งครัดและผ่านมิติของการปฏิบัติภาวนา

สรรค์สร้างพิธีกรรม

พิธีกรรมแต่เดิมเป็นเรื่องที่สงวนไว้เฉพาะคนบางกลุ่มที่ดูจะศักดิ์สิทธิ์กว่า สูงส่งกว่า แต่อ่านจนมาถึงตรงนี้ทุกคนคงจะรู้แล้วว่าในตัวเราก็มีความศักดิ์สิทธิ์เหมือนกัน เราจึงมีสิทธิ์ที่จะสรรค์สร้างพิธีกรรมที่มีความหมายต่อตัวเราเอง ซึ่งนี่ก็เป็นการบ้านภาคบังคับที่เหล่านักเรียนจะต้องไปคิดแล้วมาเล่าให้เพื่อนฟัง

ก่อนอื่นเลยเราต้องกำหนดก่อนว่าพิธีกรรมของเราจะมีจุดอ้างอิงเป็นอะไร เราอยากทำพิธีแบบพุทธ พราหมณ์ หรือจินตนาการว่าตัวเองเป็นพ่อมดแม่มดทำพิธีแบบตะวันตก ลำดับถัดมาคือเราต้องเลือกเทพที่อยู่ในวัฒนธรรมนั้นๆ ให้เข้ากับจุดประสงค์ เช่น เราต้องการขอพรเกี่ยวกับความรัก ถ้าอิงตามตำนานกรีกเราอาจเลือกสื่อสารกับเทพีอโฟรไดท์ (Aphrodite) ถ้าอิงตามตำนานนอร์สก็มีเทพีเฟรยา (Freyja) หรือพึ่งพระแม่ลักษมีตามคติอินเดีย

การเลือกในขั้นต้นนี้จะมีผลไปจนถึงรูปแบบขั้นตอนพิธี และการเลือกเครื่องบูชา ถ้าหากเราไม่ได้ทำพิธีเพียงคนเดียวแต่เป็นการสื่อสารกับคนในชุมชนด้วย เราควรศึกษาระบบสัญลักษณ์และคติความเชื่อเพื่อให้องค์ประกอบในพิธีกรรมมีความสอดคล้องกัน หากเราจะสื่อสารกับเทพที่เป็นมังสวิรัติแต่ดันเตรียมไก่ต้มถวายคงจะโดนคนอื่นเขม่นน่าดู

อีกองค์ประกอบก็คือมนตร์ อ.ตุลแนะนำว่าให้เริ่มด้วยการสรรเสริญคุณลักษณะของเทพหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เราเชื้อเชิญมา ซึ่งจะส่งเสริมให้มนตร์มีความศักดิ์สิทธิ์ยิ่งขึ้น ก่อนจะอธิบายว่าเราจะนำคุณลักษณะของเทพมาเป็นพรของเรายังไง ยกตัวอย่างต่อจากเทพีอโฟรไดท์ที่นอกจากจะเป็นเทพแห่งความรักแล้วก็ยังเป็นเทพแห่งความงามด้วย เราอาจขอให้ความงดงามเกิดขึ้นทั้งกับรูปโฉมและจิตใจ และให้ความงามนี้นำพาเราไปหาความรักที่ดี มีชีวิตคู่ที่มีความสุข ส่วนมนตร์ในพิธีบวงสรวงจะเป็นการประกาศเจตจำนงหลังกล่าวสรรเสริญสิ่งศักดิ์สิทธิ์เรียบร้อย หลักการทั้งหมดนี้ก็เป็นแค่แนวทางคร่าวๆ เท่านั้น สิ่งสำคัญในการประพันธ์มนตร์หรือบทสวดคือเราเปิดช่องทางให้สิ่งที่เราไม่รู้ (unknown) เข้ามาสื่อสารด้วย

ในตอนสุดท้ายของพิธีจะต้องมีบางสิ่งเป็นสัญลักษณ์แทนพรที่เทพมอบให้กับเรา อย่างเช่น วัดไทยที่มีการพรมน้ำมนต์ปิดท้าย วัดฮินดูที่จะให้ขนมหวานกลับมา หรือแผ่นปัง (ขนมปังไร้เชื้อ) จากพิธีศีลมหาสนิทของคริสต์ศาสนา เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จสิ้นพิธี

ในการสรรค์สร้างพิธีด้วยตัวเองอาจมีบางสิ่งขาดๆ เกินๆ ไปบ้าง หรือไม่มั่นใจว่าทำถูกต้องตามแบบแผนรึเปล่า ขอย้อนกลับไปที่ตอนต้นของบทความ การทำพิธีกรรมเป็นสิ่งที่อยู่ในสัญชาตญาณของเราอยู่แล้ว มากไปกว่านั้นเจตจำนงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด พิธีกรรมเป็นเพียงตัวเร่งปฏิกิริยา ช่วยให้เจตจำนงเป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้น เราจึงไม่จำเป็นต้องกลัวพลาด แต่ให้สัมพันธ์กับประสบการณ์ตรงที่จะไม่เกิดซ้ำขึ้นอีกอย่างเต็มที่ เราอาจจะค้นพบว่านอกเหนือไปจากเทพแล้ว เราก็มีบทสนทนากับตัวเองไปพร้อมกัน

นอกจากเหล่าผู้ใฝ่รู้ในมนตราที่ต้องทำการบ้านมาส่งอาจารย์ อ.ตุลก็ส่งการบ้านเป็นมนตร์ที่แต่งให้กับทุกคนด้วย เราจบกิจกรรมด้วยความอิ่มเอม และเต็มเปี่ยมไปด้วยพลังอำนาจที่ถูกปลุกให้ตื่นขึ้น หลังจากนี้เราก็ไม่ต้องยืนมองพิธีกรรมจากที่ไกลๆ อีกต่อไป พิธีกรรมได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน และความศักดิ์สิทธิ์ก็เกิดขึ้นในทุกขณะของชีวิต

“ขอกายวาจาใจของข้าพเจ้า ยังให้ทุกกรณียกิจที่ข้าพเจ้าได้ทำนั้นศักดิ์สิทธิ์ เปี่ยมล้นด้วยความหมาย ความงาม ความรัก และมอบพรนั้นแด่เพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์ต่อไปด้วยเถิด”

ส่วนหนึ่งจากมนตร์ ‘พรแด่ผู้ถือสิทธิแห่งมนตรา’ โดย อ.ตุล คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง